, , ,

ที่ตั้ง

       ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง

       ละติจูดที่ 9°58′12″ เหนือ  ลองจิจูดที่ 98°38′24″ ตะวันออก

       เริ่มต้นจากถนนเรืองราษฎร์  ตรงไปทางสะพานคอซู้เจียง ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร กำแพงจะอยู่ทางซ้ายมือ

ประวัติและความสำคัญ

       พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง พ.ศ. 2420 – 2433 สร้างจวนใหม่เป็นที่พักประมาณ พ.ศ. 2420  หลังจากการก่อจลาจลของกรรมกรจีนไม่นานนัก  มีกำแพงทำด้วยอิฐสอปูน ความสูงประมาณ 3.50 เมตร ความหนาประมาณ 50 เซนติเมตร ฐานทำด้วยอิฐธรรมชาติ สูงประมาณ 60 เซนติเมตร และหนาประมาณ 60 เซนติเมตร  แนวกำแพงมีความยาวทั้งหมด 954 เมตร  แต่ปัจจุบันเหลือแนวให้เห็นเพียง 722 เมตร มีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก  เนื้อที่ภายในประมาณ 33 ไร่เศษ  เดิมบริเวณประตูด้านหน้ามีเรือนหอรบขนาดใหญ่ทำด้วยไม้ ปัจจุบันไม่มีแล้ว มุมกำแพงด้านทิศเหนือติดกับมุมด้านทิศตะวันออกมีป้อมขนาดเล็กอยู่ 1 ป้อม อดีตอาจใช้เป็นที่รักษาการณ์ของยาม จวนนี้มักเรียกกันว่า “ในค่าย” คงจะเป็นเพราะมีกำแพงล้อมรอบ  

     เมื่อคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ มีพระราชนิพนธ์ไว้ว่า  “…ประตูข้างหน้าทำเป็นหอรบเท่าเรือนหลังโต ๆ … กำแพงทำแน่นหนาสูงราว 10 ศอก  ข้างในก่อว่างเป็นช่องปืนไว้ เอาอิฐบังแผ่นเดียว ถ้ามีการอะไรกระทุ้งอิฐออกเสียเป็นช่องปืน เพราะคร้ามพวกที่จะเข้ากงสีกัน…”  พวกที่จะเข้ากงสีในที่นี้หมายถึงพวกจีนที่ก่อการจลาจล  กำแพงจวนเจ้าเมืองแห่งนี้นับเป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญของเมืองระนอง

      กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2539      

      ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 113 ตอนพิเศษ 503 วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2539

, , ,
0 0 votes
Article Rating
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x