ชาวบ้านที่อยู่ริมชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่จะเลือกประกอบอาชีพประมงขนาดเล็ก หรือประมงพื้นบ้านเพื่อยังชีพ โดยใช้เรือขนาดเล็กหรือเรือพื้นบ้านซึ่งปัจจุบันก็จะติดเครื่องยนต์และใช้อวนลาก ประมงพื้นบ้านถือเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อการดำรงชีพของชุมชนในพื้นที่หรือเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ออกไปดักจับสัตว์น้ำทะเล เพื่อนำสัตว์น้ำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ น้ำปลา ปลาหมึก หอยดอง ฯลฯ ซึ่งต่างจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ประกอบประมงเชิงพาณิชย์
นายธวัช เพ็งเทพ ชาวประมงพื้นบ้านนานิน ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เล่าให้ฟังว่าตนเองประกอบอาชีพจับกุ้งเคยเป็นหลัก แต่กุ้งเคยไม่ได้หาได้ทุกวัน การจับกุ้งเคยจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลหรือช่วงที่มีกุ้งเคยชุกชุม คือ ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน และต้องดูลักษณะน้ำขึ้นน้ำลงโดยปกติแล้วจะเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 12 ค่ำ ถึง 7 ค่ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกลักษณะน้ำนี้ว่า “น้ำใหญ่” และช่วงที่ไม่เหมาะกับการจับกุ้งเคยหรือหยุดจับกุ้งเคยเป็นช่วงเวลาระหว่าง 8 ค่ำ 11 ค่ำ เพราะลักษณะน้ำทะเลจะหยุดนิ่งหรือที่เรียกว่า “น้ำตาย” การออกเรือจับกุ้งเคยต้องออกจากบ้านตั้งแต่ประมาณเวลา 05.00 – 08.00 น. ไปลงเรือที่จอดไว้ที่ท่าเรือท่าไคลในลำคลองปะเหลียนซึ่งเป็นคลองที่กั้นระหว่างอำเภอย่านตาขาวกับอำเภอกันตัง ต้องขับเรือออกไปที่ปากคลองประมาณ 20 นาที หรือประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณที่หากุ้งเคย โดยมีอุปกรณ์ที่ทำขึ้นมาเองด้วยสลิงสีเขียวที่เป็นตาข่ายช่องเล็กสุดผูกมัดกับคันไม้ไผ่ ในช่วงตอนกลางคืนหากเอาไฟฉายส่องลงไปในน้ำก็จะเห็นตาของกุ้งเคยสะท้อนกับแสงไฟเป็นสีแดงอย่างชัดเจน ลักษณะของกุ้งเคยจะตัวเล็กมีขนาดเดียวไม่โต มีขา 3 คู่ บนหัวกุ้งเคยจะมีกรี หรือโครงแข็งแหลมที่หัว ช่วงฤดูที่กุ้งเคยชุกชุมก็จะหาได้ปริมาณมากประมาณ 100 กิโลกรัมขึ้นไป แต่หากไม่ใช่ฤดูของกุ้งเคยหาได้ประมาณวันละ 5 – 10 กิโลกรัม หากหามาได้ปริมาณมากก็จะขายในราคาเหมาให้กับกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าที่มารอซื้อกุ้งเคยถึงท่าเรือในกิโลกรัมละ 35 บาท ขายปลีกในกิโลกรัมละ 60 บาท หากไม่มีการมารับซื้อก็จะนำกุ้งเคยแปรรูปเป็นอย่างอื่นซึ่งตนเองเลือกที่จะทำเคยฉลูมากกว่าเพราะรายได้ดีกว่าและไม่พอขายด้วยในกิโลกรัมละ 50 บาท การจับกุ้งเคยสามารถหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวได้ดีมาก เมื่อหมดฤดูจับกุ้งเคยก็ต้องหันไปหางานอื่นทดแทนรายได้ที่หดหายต่อไป
เมื่อได้กุ้งเคยมาแล้วก็จะทำความสะอาดด้วยน้ำเค็มในคลองจะล้างด้วยน้ำจืดไม่ได้เพราะจะทำให้กุ้งเน่าเสียได้ง่าย จะทำการคัดแยกเอาเศษขยะ เปลือกหอย ทราย และปลาตัวเล็ก ๆ ที่ติดมากับกุ้งเคยออกไปให้หมดเหลือไว้เพียงแต่ตัวกุ้งเคยขาวใสไว้เท่านั้น ต่อจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการแปรรูปกุ้งเคยเป็นเคยฉลู หรือ กะปิเค็ม และทำกะปิ ต่อไป ซึ่งเคยฉลูเป็นของดีเมืองตรังอีกหนึ่งอย่างที่ขึ้นชื่อมาก ๆ ทำได้ไม่ยากเมื่อล้างกุ้งเคยสะอาดแล้วก็เอาเกลือและน้ำตาลนิดหน่อยคลุกเคล้าให้เข้ากันทิ้งไว้ไม่กี่วันน้ำจากตัวกุ้งก็จะออกมาแฉะ ๆ แต่ยังเห็นตัวกุ้งเคยเป็นตัว นำไปปรุงรสตามเมนูต่าง ๆ เช่น หมูผัดเคย ฉลูนึ่ง ไข่เจียวฉลู ผัดผักเหมียงเคยฉลู ฉลูต้มกะทิ ผัดสะตอ ผัดถั่ว ตามแต่จะเลือกเอาเมนูที่ชอบ หรือจะเอากุ้งเคยสด ๆ มาทอดมันกุ้งก็อร่อยไม่แพ้เมนูอื่น ๆ เลย
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : นายธวัช เพ็งเทพ ชาวประมงพื้นบ้านนานิน ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง