บุคคลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
ทั้งเมืองตรังและเมืองภูรา แต่เดิมมามีผู้รักษาเมือง เมืองละคน ครั้นต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้พระภักดีบริรักษ์ (นายจันมีชื่อ มหาดเล็ก) ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช ออกไปเป็นผู้รักษาเมืองตรัง พระภักดีบริรักษ์ได้กราบทูลขอยกเอาเมืองตรังกับเมืองภูราเข้าเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า เมืองตรังภูรา
ข้อความในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ตอนนี้เป็นบันทึกย้อนหลัง กล่าวถึงผู้รักษาเมืองตรังชื่อพระภักดีบริรักษ์ ในรัชกาลที่ ๑ เข้าใจกันว่าเป็นผู้เดียวกับพระยาตรังที่เป็นกวี เรียกชื่อเป็น พระยาตรังคภูมาภิบาล พระยาตรังสีไหนบ้าง พระยาตรังสีจัน หรือจัน บ้างขระเมื่อปกครองเมืองตรังอยู่นั้น มีเหตุทำให้ต้องโทษถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพฯ แต่ด้วยเป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นเอกในเชิงกวี จึงได้รับราชการอยู่ในราชสำนัก และมีผลงานวรรณกรรมปรากฎต่อมา
งานวรรณกรรมของพระยาตรัง ได้แก่ โคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย เข้าใจว่าแต่งเมื่อคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไปตีเมืองทวายปี ๒๓๕๐ โคลงนิราศถลาง หรืออีกชื่อหนึ่งว่านิราศพระยาตรัง แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ ในคราวที่ตามเสด็จกรมหลวงพิทักษ์มนตรี กรมพระราชวังบวรฯ ไปทัพ โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๑ ผลงานอื่นๆ คือโคลงกระทู้เบ็ดเตล็ดและรวบรวมโคลงกวีโบราณ ที่มิได้เป็นโคลง คือเพลงยาวนิราศว่าด้วยครั้งไปวางตราเป็นเจ้าเมืองตรัง ซึ่งปัจจุบันไม่อาจหาต้นฉบับได้
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวยกย่องพระยาตรังไว้ในหนังสือโคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า พระยาตรังนี้ เป็นกวีที่มีชื่อเสียงในกรุงรัตนโกสินทร์คนหนึ่ง มีโคลงและกลอนที่พระยาตรังแต่ง ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ อยู่หลายเรื่อง สำนวนโคลงพระยาตรังเกล้า เป็นอย่างที่เรียกกันว่า โวหารกล้า ผิดกับกวีอื่นๆ สำนวนโคลงที่พระยาตรังแต่งควรนับว่าแต่งดีจริง จึงได้นับถือกันในหมู่กวีแต่ปางก่อน
ผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นก่อนของเมืองตรัง ก็เคยเล่าถึงพระยาตรังกวีว่า เมื่อเกิดเหตุภรรยาน้อยหนีไปกับชายชู้ ชายชู้ได้เขียนกลอนเยาะเย้ยไว้ที่หน้าประตูว่า ไม่ดีจริงเราไม่พานารีจร ข้ามห้วยข้ามสิงขรชะง่อนผา เมื่อพระยาตรังมาพบก็ให้โมโหเดือด เขียนกลอนซ้ำลงไปว่า ไม่เก่งจริงเราไม่พานารีกลับ จะเฆี่ยนพ่อเสียให้ยับลงกับหวาย ว่าแล้วก็จับชายชู้มาสำเร็จโทษเสียตามวาจาอันเป็นเหตุให้ต้องถูกเรียกตัวเข้ากรุงเทพฯ นั่นเอง
หลักฐานเกี่ยวกับบทบาทความเป็นผู้ปกครองเมืองของพระยาตรังแทบจะไม่ปรากฎ นอกจากในเอกสารข้างต้น แต่ในเชิงกวี พระยาตรังเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ในฐานะกวีเอกผู้หนึ่งแห่งยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
ประวัติพระยาตรัง
พระยาตรัง หรือที่มีนามบรรดาศักดิ์ในตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ว่า “พระยาตรังคภูมาภิบาล” เป็นกวีเอกผู้หนึ่งในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ผลงานวรรณกรรมของท่าน โดยเฉพาะที่เป็นคำประพันธ์ประเภทโคลง อาทิ โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยและโคลงนิราศพระยาตรัง (หรือที่เรียก “โคลงนิราศถลาง”) ได้รับการยกย่องนับถือในหมู่กวีรุ่นหลังเป็นอันมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่างานวรรณกรรมของพระยาตรังจะเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้รักงานกวีนิพนธ์โดยทั่วไป แต่ด้านประวัติชีวิตของท่านนั้นกลับไม่ปรากฏเรื่องราวชัดเจนนัก ที่ทราบแน่นอนจากเนื้อความในโคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อยว่า ท่านเป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งหยิ่งทะนงในความเป็นปราชญ์ของตนเองสูง ดังคำโคลง
๏ กรุงศรีธรรมราชหม้าย เมธี พ่อฮา
แสวงอยุธยาขู คู่พร้อง
เฉลิมบาทนฤบดี โดยเสด็จ เศิกแฮ
นิราศเรื่องพ้องหน้า ณรงค์ ฯ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ประวัติพระยาตรังสั้นๆ ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ถือเป็นการเผยแพร่ประวัติของพระยาตรังครั้งแรก และมีผู้อ้างอิงอยู่เสมอถึงปัจจุบัน ความว่า
“พระยาตรังคนนี้เป็นกวีมีชื่อเสียงคน ๑ เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ได้แต่งโคลงนิราศไว้เรื่องหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “นิราศพระยาตรัง” พวกกวีแต่ก่อนยกย่องกันเข้าไว้ในตำรา กับแต่งโคลงดั้นยอพระเกียรติรัชกาลที่ ๒ ไว้อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้พบเพลงยาวนิราศพระยาตรังแต่ง ว่าด้วยครั้งไปวางตราเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง สำนวนพระยาตรังแต่งกลอนสู้แต่งโคลงไม่ได้ แต่ได้ความในเรื่องประวัติของพระยาตรังในเพลงยาวนั้น ประกอบกับที่ได้ทราบคำบอกเล่า เข้าใจว่าพระยาตรังคนนี้เป็นชาวนครนครศรีธรรมราช จะเป็นเชื้อแถวอย่างไรทางเจ้าพระยานครพัฒน เป็นพระญาติกับกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ได้เป็นตำแหน่งพระยาตรังเมื่อรัชกาลที่ ๒ ครั้งนั้นยกเมืองตรังขึ้นเป็นเมืองตรีมาขึ้นกรุงเทพมหานคร เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้ พระยาตรังจึงไม่ถูกกับเจ้าพระยานครน้อย เมื่อพระยาตรังออกไปวางตรา พาภรรยาไปด้วย ภรรยาเป็นญาติเจ้าพระยานครน้อย พักอยู่เสียที่เมืองนคร ไม่ ออกไปเมืองตรังด้วย เข้าใจว่าพระยาตรังว่าราชการเมืองอยู่เพียงสิ้นรัชกาลที่ ๒ แล้วต้องกลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร เมืองตรังกลับเป็นเมืองขึ้นเมืองนครต่อไป”
ต่อมามีท่านผู้รู้หลายท่านโดยเฉพาะนักวิชาการท้องถิ่นให้ความสนใจค้นคว้าประวัติชีวิตของพระยาตรังโดยละเอียดออกเผยแพร่มากยิ่งขึ้น งานค้นคว้าที่สำคัญ คือ ข้อเขียนของขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของนครศรีธรรมราช ได้ศึกษาประวัติชีวิตของพระยาตรังทั้งจากเอกสารประวัติศาสตร์และวรรณกรรมเรื่องต่างๆ ของพระยาตรัง ประมวลกับคำบอกเล่าสืบกันมาของบุคคลในท้องถิ่น สรุปได้ว่าพระยาตรังเป็นบุตรของออกพระศรีราชสงครามรามภักดี (เยาว์) ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบุตรอุปราชจันทร์สมัยหลวงสิทธินายเวรปลัดเมืองนคร (พระปลัดหนู) ตั้งตัวเป็นเจ้า ต่อมาอุปราชจันทร์ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองตะวันตก เป็นต้นสกุลจันทโรจวงศ์ ส่วนมารดาของพระยาตรัง คือ หม่อมแจ่ม ธิดาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ด้วยเหตุนี้ พระยาตรังจึงมีความเกี่ยวพันกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทางสายมารดา
ส่วนชื่อเดิมของพระยาตรังนั้น มีผู้เสนอข้อคิดเห็นแตกต่างกันออกไป กล่าวคือในหนังสือตรังสาร ซึ่งพิมพ์ในงานฉลองรัฐธรรมนูญจังหวัดตรัง พ.ศ. ๒๔๘๒ และ ว.ศิวะสริยานนท์ (พระวรเวทย์พิสิฐ) เขียนไว้ในหนังสือวรรณคดีสาร เล่มที่ ๑๐ ปีที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๗ ว่า พระยาตรังมีชื่อเดิมว่า “สีไหน” ส่วนบทความเรื่อง “พระยาตรังค์” ของศาสตราจารย์คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส ในวารสารวัฒนธรรมไทย ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ อ้างว่าขุนอาเทศคดีได้สอบถามคนรุ่นเก่าที่เชื่อถือได้หลายคน กล่าวว่าพระยาตรังมีชื่อเดิมว่า “จัน” ส่วนขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ระบุไว้ในเรื่อง “ชีวประวัติและกวีนิพนธ์ของพระยาตรัง” ในหนังสือวิชชา ฉบับชีวิตไทยปักษ์ใต้ มิถุนายน-กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ ว่าชื่อ “ศรีจันทร์” จึงเป็นอันว่าชื่อเดิมของพระยาตรังยังไม่เป็นที่ยุติ เท่าที่ใช้กันอยู่มีต่างกันเป็น ๓ ชื่อ คือ จันทร์ (จัน) ศรีจันทร์ (สีจัน) และศรีไหน (สีไหน)
ด้านการศึกษาของพระยาตรัง ขุนอาเทศคดีเขียนไว้ในเรื่อง “ชีวประวัติและผลงานของพระยาตรัง” ว่าพระยาตรังเรียนหนังสือขอมไทย ที่วัดท่ามอญ (ปัจจุบันคือ วัดศรีทวี ในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านของท่านตรงสุดทางรถไฟ ทิศใต้ของวัดดังกล่าวในปัจจุบัน แต่เมื่อได้เวลาบวชเป็นสามเณร สันนิษฐานว่าพระยาตรังคงจะบวชที่วัดหน้าพระลาน เพราะสมัยนั้นสำนักวัดหน้าพระลานมีชื่อเสียงในด้านการศึกษามาก อีกทั้งเพื่อให้ห่างไกลจากบ้านจะได้ตั้งใจเล่าเรียน ประกอบกับมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ที่วัดนี้เคยมีสามเณรน้อยรูปหนึ่งชอบแต่งโคลง และมีคนขอร้องให้ท่านช่วยแต่งโคลงกันมาก ต่อมาสามเณรรูปนี้สึกออกไปรับราชการเป็นกวีมีชื่อเสียงใหญ่โต ส่วนโคลงที่สามเณรแต่ง มีผู้จำกันมาได้ ๒ บท ดังนี้
บทที่หนึ่ง
๏ เณรนี้รูปร่างอย่าง แมงแปะ
เหมือนหนึ่งนํ้าเต้าแกะ ตั้งไว้
นอนวันฝันเห็นแพะ เลียวาน เณรนา
สุนัขเห่าหอนให้ ร่ำร้องหาขวัญ ฯ
บทที่สอง
๏ เสน่ห์เหยอย่าทำให้พี่นี้ รวนเร
มิเงินเถิดพี่จะเท ให้ม้วย
ร้อยปีพี่ไม่เห ห่างสวาท
บิณฑบาตได้กล้วย ให้น้องกินแฮ
บรรณานุกรม :
กรมศิลปากร. วรรณกรรมพระยาตรัง. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: รุ่งวัฒนา, 2515
ตรัง, พระยา. วรรณกรรมพระยาตรัง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
กรมศิลปากร, 2557.
หอสมุดแห่งชาติ กาญจนาภิเษก สงขลา. พระยาตรัง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม
2565, จาก: https://www.finearts.go.th/songkhlalibraryk/view/17143-วรรณกรรมพระยาตรัง