“โนรา” หรือ “มโนราห์” เป็นศิลปะการแสดงในด้านความเชื่อที่อยู่คู่กับคนใต้มาช้านาน เป็นการแสดงที่มีแบบแผน ท่ารำ พิธีกรรม เครื่องแต่งกาย และดนตรีเฉพาะในการร่ายรำ
เครื่องแต่งกายมโนราห์ประกอบด้วย
- เทริด
- กำไล กำไลปลายแขน และกำไลต้นแขน
- เล็บปลอม
- สร้อยคอ
- คลุมไหล่
- ปิ้งคอ
- รัดอก
- ทับทรวง
- ปั้นเหน่ง
- สนับเพลาขาว
- ผ้านุ่ง
- ผ้าห้อย และผ้าห้อยหน้า
เครื่องดนตรีของมโนราห์ประกอบด้วย
- ทับ (โทนหรือทับโนรา)
- กลอง เป็นกลองทัดขนาดเล็ก
- ปี่ เป็นเครื่องเป่าเพียงชิ้นเดียว
- โหม่ง คือ ฆ้องคู่
- ฉิ่ง
- แตระ หรือ แกระ คือ กรับ
ท่ารำของมโนราห์มีท่ารำหลัก ๆ อยู่ 12 ท่า คือ
- ท่าแม่ลาย หรือท่าแม่ลายกนก
- ท่าราหูจับจันทร์ หรือท่าเขาควาย
- ท่ากินนร หรือกินนรรำ (ท่าขี้หนอน)
- ท่าจับระบำ
- ท่าลงฉาก
- ท่าฉากน้อย
- ท่าผาลา (ผาหลา)
- ท่าบัวตูม
- ท่าบัวบาน
- ท่าบัวคลี่
- ท่าบัวแย้ม
- ท่าแมงมุมชักใย
“มโนราห์” เกิดขึ้นจากพิธีกรรมโรงครู โดยมีมโนราห์ใหญ่ หรือนายโรงมโนราห์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนด้านคาถาอาคมมาแล้ว เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม โดยใช้คาถาอาคม เสียงดนตรี และการขับร้องร่ายรำในการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อเชื่อมโลกแห่งความจริงกับโลกของวิญญาณที่เรียกว่า “วิญญาณบรรพชน” หรือ “ครูหมอโนรา” ให้มารับชมการร่ายรำ รับของเซ่นไหว้ และประทานพรแก่ลูกหลาน
พิธีกรรมมโนราห์โรงครูประกอบด้วย
- พิธีขานเอ
- พิธีกาศครู
- พิธีชุมนุมครู
- พิธีจับบทตั้งเมือง
- พิธีครอบเทริด
- พิธีคล้องหงส์
- พิธีแทงเข้
- พิธีแก้บน และรักษาโรค
มโนราห์โรงครูจะเริ่มต้นในวันพุธและสิ้นสุดในศุกร์ ในช่วงเดือน 6 ถึงเดือน 9 ทางจันทรคติ มโนราห์โรงครูมีลำดับพิธีกรรมทั้งหมด 3 วัน 2 คืน
วันแรก คือวันพุธบ่ายเป็นการทำพิธีกรรมการเบิกโรง พิธีขานเอ พิธีกาศครู พิธีชุมนุมครู และช่วงค่ำจะทำพิธีกรรมการตั้งเมืองก่อนมีการร่ายรำในคืนแรก
วันที่สอง คือวันพฤหัสบดีเป็นการทำพิธีกรรมตามแบบแผนเล็กน้อย คือพิธีกรรมกาศครู พิธีชุมนุมครู และมีการร่ายรำตลอดทั้งวันจนถึงช่วงดึก
วันที่สาม คือวันศุกร์ที่เรียกว่าวันส่งครู ซึ่งวันนี้จะมีพิธีกรรมสำคัญในช่วงเย็น คือพิธีกรรมการคล้องหงส์ แทงเข้ และพิธีกรรมแก้บนและรักษาโรค การคล้องหงส์เป็นการร่ายรำที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องเป็นมโนราห์ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วเท่านั้นจึงสามารถทำพิธีกรรมคล้องหงส์ได้ การคล้องหงส์คือการที่พรานทำการจับหงส์ด้วยบ่วงบาศตามแบบแผนพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
ส่วน “มโนราห์แทงเข้” เป็นพิธีกรรมส่วนหนึ่งของ มโนราห์โรงครู ซึ่งชาวบ้านบางพื้นที่มักเรียก“มโนราห์โรงครู” ว่า “มโนราห์แทงเข้” เนื่องจากเรียกตามพิธีกรรมสำคัญ โดย “การแทงเข้” (จระเข้)เป็นชุดรำเพื่อตัดไม้ข่มนาม มองว่าจระเข้เป็นปัญหา อุปสรรค และความน่าสะพรึงกลัวของอำนาจที่คุกคาม โดยมโนราห์จะใช้หอกแทงพญาชาละวันซึ่งสอดคล้องกับวรรณคดีเรื่องไกรทอง แต่จระเข้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจระเข้ที่เป็นสัตว์ แต่เป็นการนำหยวกกล้วยและทางมะพร้าวมาประกอบเป็นรูปร่างคล้ายจระเข้ เพื่อเป็นตัวแทนของพญาชาละวัน เมื่อพิธีกรรมการแทงเข้จบลงถือเป็นอันสิ้นสุดการรำมโนราห์โรงครู
บรรณานุกรม :
กระทรวงวัฒนธรรม. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. โนรา ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต. กรุงเทพฯ :
กระทรวงวัฒนธรรม, 2563.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. หลังม่านโนรา. เชียงใหม่ : สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย สกว. ฝ่ายวิจัย
เพื่อท้องถิ่น, 2551