ที่ตั้ง
ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
การให้บริการ
เปิดให้บริการทุกวัน วันละ 2 ขบวน คือ
- ขบวนรถด่วน ออกเดินทางจากสถานีตรัง เวลา 17.00 น. ถึงสถานีกรุงเทพ
อภิวัฒน์ เวลา 09.25 น.
- ขบวนรถเร็ว ออกเดินทางจากสถานีตรัง เวลา 13.19 น. ถึงสถานีกรุงเทพ
อภิวัฒน์ เวลา 07.00 น.
ประวัติความเป็นมา
การสร้างทางรถไฟสายใต้เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2454 จากเพชรบุรีมาถึงทุ่งสง แล้วแยกไปอำเภอหาดใหญ่ต่อไปยังมลายูสายหนึ่ง และมาสุดที่ท่าเรือกันตังอีกสายหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2456 กรมรถไฟได้ทำทางรถไฟเข้าเมืองตรังได้สำเร็จ และรถไฟเปิดเดินถึงท่าเรือกันตังได้เป็นครั้งแรก เส้นทางรถไฟสายใต้ช่วงอำเภอทุ่งสงจะมีทางแยกออกมาฝั่งอันดามัน สถานีแรกคือ สถานีห้วยยอด ต่อด้วยสถานีรถไฟตรังและสถานีรถไฟกันตังตามลำดับ
สถานีรถไฟตรัง เป็นสถานีหลักประจำจังหวัด เดิมทีสถานีนี้ชื่อว่า “สถานีทับเที่ยง” ตามตำบลที่ตั้ง ยุคที่มีการเปิดเดินรถไฟแต่แรกนั้น ตัวเมืองตรังตั้งอยู่ที่กันตัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 พระวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สุทัศน์ สุทธิสุทัศน์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตได้กราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ 6 ไปว่า เมืองตรังนั้นตั้งอยู่ที่กันตังตรงริมทะเล ไม่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ เกรงว่าจะถูกโจมตีเช่นเดียวกับปีนัง จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายที่ว่าการจังหวัดไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก และเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ตามพระบรมราชวินิจฉัย ผลจากการย้ายตัวเมืองตรังนั้น “สถานีทับเที่ยง” จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีตรัง” ส่วน “สถานีตรัง” ที่ตั้งอยู่ที่อำเภอกันตังนั้น ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีกันตัง” และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
บรรณานุกรม
สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดตรัง. เหลียวหลังแลหน้า ทับเที่ยง 90 ปี. ตรัง :
สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดตรัง, 2549.
วันวิสข์ เนียมปาน. The cloud ไปตรังกัน – ไปกันตัง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ
5 พฤษภาคม 2566,จาก https://readthecloud.co/travel-to-trang-by-train/