ที่ตั้ง
ตำบลช่อง อำเภอนาโยง
ละติจูด 7° 33′ เหนือ ลองจิจูด 99° 47′ 24″ ตะวันออก
การเดินทางเริ่มต้นจากตัวเมืองตรังไปตามถนนเพชรเกษมสายตรัง-พัทลุง ประมาณ ๒๑ กิโลเมตร ก่อนขึ้นเขาพับผ้า ซึ่งทางด้านขวาเป็นบริเวณที่ตั้งสวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้เขาช่อง และหน่วยงานอื่น ๆ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกหลายหน่วย การไปยัง “ศาลาแปดเหลี่ยม” ที่โตนน้อย ต้องเดินเท้าผ่านอาคารหน่วยราชการและเนินดินซึ่งเคยเป็นที่ตั้งตำหนักโปร่งหฤทัยเดิม เมื่อถึงริมธารจึงจะเห็นศาลา ส่วน “ศาลาธารหทัยสำราญ” นั้นตั้งอยู่ริมโตนใหญ่ มีถนนภายในให้รถเข้าถึงได้
ประวัติและความสำคัญ
ตำหนักโปร่งหฤทัยเป็นชื่อเรือนรับรองที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตสร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อ พ.ศ. 2452 ได้รับพระราชทานนามในครั้งนั้น ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ได้เสด็จมาประทับแรมอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2458 จากนั้นสถานที่แห่งนี้ได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ต พ.ศ. 2471
ในช่วงที่กรมศิลปากรสำรวจขึ้นทะเบียน “ตำหนักโปร่งหฤทัย” เป็นโบราณสถานนั้น ตัวตำหนักปรักหักพังไปหมดแล้ว จึงได้กำหนดขึ้นทะเบียนศาลาริมธาร 2 แห่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จฯ คือศาลาแปดเหลี่ยมที่โตนน้อยซึ่งเป็นลำธารที่ไหลมาจากน้ำราบ และศาลาธารหทัยสำราญที่โตนใหญ่
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 15 ธันวาคม 2539
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 113 ตอนพิเศษที่ 50 ง วันที่ 8 ธันวาคม 2539