ที่ตั้ง
หมู่ที่ 7 บ้านวัดคีรีวิหาร ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด
ละติจูด 7° 47′ เหนือ ลองจิจูด 99° 33′ ตะวันออก
การเดินทางเริ่มต้นจากสี่แยกห้วยยอด ตำบลเขากอบ ไปตามถนนเพชรเกษมสายตรัง-กระบี่ มีทางแยกขวามือตามถนนสาย 2150 เข้าไป รวมระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือ เมื่อเข้าถึงบริเวณวัดแล้วควรแจ้งให้ทางวัดทราบก่อนเข้าชม
ประวัติและความสำคัญ
ถ้ำคีรีวิหารเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มีพระพุทธรูปโบราณที่เพิงผาหน้าถ้ำและในถ้ำ เคยมีพระพิมพ์ดินดิบที่ถ้ำด้านใน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 17 ปัจจุบันไม่มีแล้ว แต่มีเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ เข้าใจว่าได้ไปเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จมาใน พ.ศ. 2445 ซึ่งทรงบันทึกถึงพระพิมพ์ดินดิบไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “จดหมายเหตุระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. 121”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เคยเสด็จมาที่วัดคีรีวิหารเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2452
มีตำนานว่าในสมัยบูรณะพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช มีขบวนผู้คนนำทรัพย์สินมีค่าจะไปร่วมบูรณะ แต่พอมาหยุดพักที่ถ้ำนี้ได้ข่าวว่าการบูรณะเสร็จสิ้นลงแล้ว จึงสร้างพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำรวมทั้งพระปางมารวิชัยที่เพิงผา ส่วนวัดนี้เพิ่งสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2374 เล่ากันว่า เดิมเรียก “วัดห่าน” ตามรูปห่านที่ปั้นไว้ ๒ ตัว ชาวบ้านเรียกว่า “วัดหาน” ซึ่งอาจหมายถึง วิหารหรือห่านก็ได้ ส่วนบนยอดเขามีเจดีย์ 84000 พระธรรมขันธ์ เพิ่งสร้างภายหลังขึ้นกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2478
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ ๗๕ หน้า 3685 วันที่ 8 มีนาคม 2478