ที่ตั้ง
หมู่ที่ 7 ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด
ละติจูด 7° 42′ เหนือ ลองจิจูด 99° 37′ 48″ ตะวันออก
การเดินทางเริ่มต้นจากตัวเมืองตรังไปตามถนนสายตรัง-ห้วยยอด จนถึงหน้าค่ายทหาร มีทางแยกขวาเป็นถนนสาย 4007 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร ด้านซ้ายมีทางแยกเล็ก ๆ เข้าไปจอดรถริมถนนในสวนยาง แล้วเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 300 เมตร ก็จะถึงตัวถ้ำ
ประวัติและความสำคัญ
เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์และก่อนประวัติศาสตร์ ลักษณะเป็นถ้ำหินปูนในเทือกเขาน้ำพราย มีภาพเขียนสีแดงที่เพดานใกล้ปากถ้ำ เป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต ดูเป็นเหมือนตราบางอย่าง จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำ ปัจจุบันมีร่องรอยเพียงจาง ๆ ที่ปากถ้ำมีการปรับปรุงพื้นที่ทางขึ้นและมีร่องรอยฐานพระพุทธรูป ชาวบ้านเล่าว่าที่ถ้ำนี้เมื่อก่อนมีพระบ้าง แม่ชีบ้าง มาพำนักปฏิบัติธรรม ปัจจุบันพื้นที่นี้อยู่ในความรับผิดชอบของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้ำพราย
หลังจากการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2478 แล้ว ก็มีการสำรวจของโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) เมื่อ พ.ศ. 2529 ผลการสำรวจสรุปสั้น ๆ ว่า “แหล่งโบราณคดีนี้น่าจะเป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์”
ที่แห่งนี้อาจเชื่อมโยงกับ “เมืองตรังภูรา” ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งทำหน้าที่เก็บขี้ค้างคาวและดิน- ประสิวส่งให้นครศรีธรรมราชเพื่อส่งส่วนกลางอีกทีหนึ่ง ที่ตั้งไม่ไกลจากคลองลำภูรา แสดงว่าชุมชนเดิมอยู่ไม่ห่างจากบริเวณนี้ และอาจใช้ถ้ำตราเป็นที่ทำพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2478
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 หน้า 3685 วันที่ 8 มีนาคม 2478