, , ,

ที่ตั้ง

       บ้านถ้ำพระ หมู่ที่ 6 ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา

       ละติจูด 7° 57 ′ 36″ เหนือ  ลองจิจูด 99° 45 ′  ตะวันออก

       การเดินทางเริ่มต้นจากตัวเมืองตรัง ไปทางถนนสาย 401 เมื่อถึงสี่แยกบางขันเลี้ยวขวา เข้าสู่ถนนสาย 4151 ถึงสามแยกตำบลน้ำตก อำเภอทุ่งสง เลี้ยวขวาไปประมาณ 800 เมตร  ทางขวาจะมีทางแยกเข้าสู่วัดอีกประมาณ 1.6 กิโลเมตร ระยะทางจากตรังรวม 72 กิโลเมตร การเข้าชมพระพุทธรูปที่เพิงผาสามารถเข้าถึงได้โดยตรง แต่การชมวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต้องแจ้งทางวัดก่อน

ประวัติและความสำคัญ

    เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์และก่อนประวัติศาสตร์  ส่วนที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานคือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานบนหน้าผาสูง พร้อมทั้งพระบริวาร นอกจากนี้ยังมีถ้ำอีกแห่งหนึ่งที่ใกล้ ๆ กัน เป็นที่พบโบราณวัตถุอื่น ๆ เช่น เตาเผา เครื่องมือหิน กระดูกสัตว์ เศษโลหะ และเศษภาชนะดินเผา

       ประวัติวัดกล่าวว่าสร้างวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2374 โดยพ่อท่านฉางหวาง  เวลานั้นมีพระพุทธรูปที่เพิงผาอยู่ก่อนแล้ว  ในตำนานท้องถิ่นกล่าวว่าผู้สร้างพระพุทธรูปนี้คือนางเลือดขาว และกล่าวว่าพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่งเป็นตัวแทนนางเลือดขาว  ลักษณะของพระพุทธรูปที่เรียงรายอยู่ทั้งด้านพระเศียรและด้านพระบาทของพระพุทธรูปปางปรินิพพานเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องลักษณะเดียวกับสมัยอยุธยา

       ในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นที่กล่าวว่านำมาจากถ้ำโหนด (โตนด) และมีโบราณวัตถุจำนวนมากจัดแสดงไว้ในตู้  ส่วนใหญ่เป็นเครื่องทองเหลือง  โดยเฉพาะขันทองเหลือมีหลายร้อยใบ เล่ากันว่าในสมัยก่อนเมื่อมีงานศพ เจ้าภาพจะถวายขันไว้ 1 ใบ  จำนวนขันเป็นจะเป็นเครื่องบอกได้ดีว่าวัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางชุมชนมายาวนานเท่าใด  ส่วนวัตถุอื่น ๆ เช่น พาน ขันโตก ถ้วยชาม  เชื่อกันว่าสมัยที่มีศึกพม่า บรรดาข้าราชการหนีมาซุกซ่อนตัวในป่าและทิ้งข้าวของเครื่องใช้ไว้  นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ใบลานและสมุดข่อยหรือที่เรียกกันในท้องถิ่นภาคใต้ว่า “หนังสือบุด” อีกมาก  ในหนังสือบุดบางเล่มระบุปีที่จารึกประมาณ พ.ศ. 2430 กว่า ๆ

       กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2478 

       ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 หน้า 3685  วันที่ 8 มีนาคม 2478

, , ,
0 0 votes
Article Rating
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x