
ที่ตั้ง
ตำบลกะโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง
ละติจูด 8° 25′ 48″ เหนือ ลองจิจูด 98° 28′ 48″ ตะวันออก
การเดินทางเริ่มต้นจากตัวเมืองพังงามาตามถนนเพชรเกษม เส้นทางพังงา – ภูเก็ต ตรงไปประมาณ 8 กิโลเมตร ทางเข้าวัดอยู่ทางขวามือ


ประวัติและความสำคัญ
ถ้ำสุวรรณคูหาตั้งอยู่ในบริเวณวัดสุวรรณคูหา เป็นวัดที่ไม่ปรากฏประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่หลักฐานจากศิลาจารึกภายในถ้ำกล่าวว่า พระยาบริสุทธิ์โลหะภูมินทราธิบดี (ถิน) ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่ง พระเพชร-คีรีศรีพิไชยสงคราม (เหม็น) ปลัดเมืองผู้น้อง ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์โดยขุดลอกตกแต่งพื้นถ้ำ และก่อสร้างปูชนียวัตถุภายในถ้ำ มีพระพุทธรูปน้อยใหญ่ รวมทั้งพระปรางค์เพื่อบรรจุอัฐิบรรพบุรุษ


ในพระราชหัตถเลขาพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมลายูได้ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาประพาสที่วัดสุวรรณคูหา ระหว่างเวลาบ่าย 2 โมง ทรงพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อไว้บนผนังถ้ำว่า “จ.ป.ร. 109”


ภายหลังปรากฏจารึกเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ พระปรมาภิไธยย่อ “ปปร” ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2471 พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และพระนามาภิไธยย่อ “สก” ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2502


กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 27 ธันวาคม 2544
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 119 ง วันที่ 4 ธันวาคม 2545