ตรังเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความโดดเด่นทางด้านอาหารการกิน มีอาหารรสเลิศเป็นที่รู้จักกันทั่วไปของคนไทยทั้งประเทศ มีให้เลือกรับประทานมากมายหลายชนิดทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ธุรกิจร้านอาหารในครัวเรือนจึงประสบความสำเร็จ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้คนในวัยทำงานได้มีงานทำมีรายได้เข้ามาในครอบครัว โดยเฉพาะ “ติ่มซ่ำ” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการกินที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากกลุ่มชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดตรัง เป็นอาหารที่คนตรังนิยมรับประทานกันตั้งแต่ช่วงเวลาเช้ากระทั่งถึงช่วงเย็น หากจะเลือกรับประทานติ่มซำเป็นอาหารมื้อเช้าสามารถค้นหาร้านติ่มซำได้ไม่ยากมีมากมายให้เลือกทั้งที่อยู่ในเมือง และรอบนอก ร้านที่รู้จักและติดหูกันดี เช่น ร้านเลตรัง ร้านเรือนไทยติ่มซำ ร้านพงษ์โอชา ร้านไก่หนุ่ย ร้านต้นนุ่น ฯลฯ
โดยทั่วไปติ่มซำจำพวกขนมจีบหรือฮะเก๋า จะรับประทานคู่กันกับซอสเปรี้ยวที่มีลักษณะเป็นน้ำสีดำที่รู้จักในชื่อจิ๊กโฉ่ว แต่สำหรับจังหวัดตรังแล้วจะมีน้ำจิ้มสูตรเด็ดที่เสริมเข้ามาอีกตัวเพื่อใช้รับประทานคู่กับติ่มซำ และต้องยกให้เป็นนางเอกที่ช่วยเพิ่มรสชาติติ่มซำให้อร่อยถูกปาก นั่นคือ น้ำจิ้มที่มีรสชาติกลมกล่อมพอดีทั้งรสหวาน เปรี้ยว เค็ม และจะออกรสเผ็ดนิด ๆ ที่เรียกกันว่า “กำเจือง” “ค้อมเจือง” หรือ “ส้มเจือง” มีลักษณะเป็นซอสน้ำสีแดงข้น คนตรังจะเรียกน้ำจิ้มที่ออกสำเนียงจีนกวางตุ้งว่า ก้อมเจือง กำเจือง หรือ ค้อมเจือง ซึ่ง กำ แปลว่าสีส้ม และ เจือง แปลว่าน้ำจิ้ม เดิมเรียกว่าห่อยชิ้นเจือง ที่มีความหมายถึงซอสใหม่ หรือซอสสด โดยทำมาจากมันเทศ ถั่วลิสงต้มสุก แล้วปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำส้ม เกลือ และนำไปโม่จนละเอียด ซึ่งในส่วนของขั้นตอนนี้ถือเป็นความลับอย่างยิ่ง และมีผู้รู้น้อยมาก รสชาติน้ำจิ้มจะออกหวานนำเปรี้ยวเผ็ดนิด ๆ หน้าตาคล้ายน้ำจิ้มซอสพริก น้ำจิ้มกำเจืองนี้จะพบได้แทบทุกร้านที่เป็นร้านติ่มซำ แต่รสชาติอาจจะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกันตามสูตรของแต่ละร้าน นอกจากนี้ยังมีการนำกำเจืองมาทำเป็นน้ำจิ้มและน้ำราดของอาหารท้องถิ่นอีกหลายอย่างมากมาย อาทิ ขนมปากหม้อ ขนมปอเปี้ยะสด ซาลาเปา หูหมู ไส้หมู เต้าคั่วยัดไส้หมู รวมไปถึงการนำกำเจืองไปรับประทานคู่กับเมนูหมูย่างอันเลิศรสสูตรเด็ดของเมืองตรัง
กำเจืองมีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยตามสำเนียงคนใต้ว่า “น้ำชุบจีน” แปลความหมายว่า “น้ำพริกจีน” ซึ่งความหมายนี้อาจจะไปสอดคล้องกับการนำกำเจืองเคียงกับผักกาดหอม ที่คล้ายกับการรับประทานน้ำพริกกะปิของคนไทยที่ใช้เคียงกับผักสดนั่นเอง นอกจากนั้นแล้วยังใช้กำเจืองเป็นส่วนผสมเพื่อปรุงแต่งรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้นกับอาหารประเภทอื่น ๆ ได้อีกหลากหลายชนิด อาทิ การนำกำเจืองไปหมักและผัดกับเนื้อสัตว์ และกำเจืองอาจจะใช้แทนซอสของชาวตะวันตกจึงมีการสันนิษฐานว่า
กำเจืองอาจเป็นการลอกเลียนแบบมาจากซอสของชาวตะวันตกโดยกลุ่มชาวจีนที่นำวัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่มาประยุกต์ปรับปรุงจนกลายมาเป็นน้ำจิ้มที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจังหวัดตรังที่ดึงดูดและเป็นเสน่ห์สำหรับนักเดินทางที่มาเยือนอีกด้วย
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………
ขอบคุณแหล่งข้อมูล :
1. นายวชิรวิชญ์ ชิดเชื้อ โรงเรียนวิเชียรมาตุจังหวัดตรัง
2. ร้านไก่หนุ่ยติ่มซำ ถนนหนองยวน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
3. ร้านต้นนุ่น ถนนหนองยวน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง