
พ่อท่านแช่ม ชาตะเมื่อ พ.ศ. 2370 เป็นบุตรชาวบ้านตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา พ่อแม่ส่งให้มาอยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุพอบวชได้ก็บวชเป็นสามเณร ต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุ แล้วจำพรรษาอยู่ ณ วัดฉลอง จากนั้นก็ได้ศึกษาจากพ่อท่านเฒ่าจนเชี่ยวชาญทางวิปัสสนาธุระเป็นอย่างสูง
พ.ศ. 2419 กรรมกรเหมืองแร่จำนวนมากในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า “อั้งยี่” แล้วก่อเหตุวุ่นวายหมายจะยึดการปกครองจังหวัดเป็นของพวกตน โดยที่ทางราชการไม่สามารถปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธไล่ ยิง ฟัน ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่รอดชีวิตบ้างก็หนีเข้าป่า บางส่วนหนีเข้าวัดฉลอง ทิ้งบ้านเรือนและหมู่บ้านให้พวกอั้งยี่เผา หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่าบ้านไฟไหม้จนถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลองถูกพวกอั้งยี่รุกไล่เข้ามาใกล้วัด ต่างก็เข้าไปแจ้งให้พ่อท่านแช่มทราบและนิมนต์ให้ท่านหลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย แต่ท่านไม่ยอมหนี เมื่อชาวบ้านเห็นว่าท่านไม่หนีพวกเขาก็ไม่หนีจะขอสู้กับพวกอั้งยี่ พ่อท่านแช่มจึงได้ทำผ้าประเจียดแจกให้โพกศีรษะคนละผืนเพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองตัว หลังจากนั้นชาวบ้านก็ได้ออกไปชักชวนคนอื่น ๆ ที่หลบอยู่ในป่าให้กลับมารวมกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่ พอพวกอั้งยี่เที่ยวรุกไล่ฆ่าชาวบ้านมาจนถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียดจากพ่อท่านแช่มโพกศีรษะไว้ก็ออกต่อสู้จนพวกอั้งยี่แตกหนีไป พวกอั้งยี่จึงให้ฉายาชาวบ้านฉลองว่า “พวกหัวขาว” ซึ่งมาจากผ้าประเจียดของพ่อท่านแช่มที่ชาวบ้านโพกหัวไว้
เมื่อข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลองรู้ถึงพวกที่หลบหนีอยู่ ต่างก็พากันมารวมตัวกันที่วัดฉลอง และอาสาว่าถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะร่วมต่อสู้และขอให้พ่อท่านแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้ พ่อท่านแช่มก็ได้ทำ ผ้าประเจียดแจกจ่ายให้คนละผืน พร้อมแจ้งกับชาวบ้านว่า “ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น”
หลังจากนั้นกลุ่มอั้งยี่ก็ยกพวกมาโจมตีชาวบ้านฉลองหลายครั้ง ชาวบ้านถือเอากำแพงพระอุโบสถเป็นแนวป้องกันพวกอั้งยี่จึงไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังอั้งยี่จัดเป็นกองทัพ ยกทัพเข้าล้อมกำแพงพระอุโบสถ ทั้ง ยิงปืน พุ่งแหลน เข้ามาที่กำแพง แต่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก บรรดาชาวบ้านที่ได้เครื่องคุ้มกันตัวจากพ่อท่านแช่มต่างแคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย จนพวกอั้งยี่ยกธงพักรบ แล้วเล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่า ชาวบ้านฉลองซึ่งได้รับผ้าประเจียดของพ่อท่านแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มารคงทนต่ออาวุธไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมากี่ครั้ง ๆ ก็ถูกตีแตกกลับไปในที่สุดเจรจาขอหย่าศึกยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์พ่อท่านแช่มโดยสิ้นเชิง
จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรมการเมืองภูเก็ตนิมนต์พ่อท่านแช่มเดินทางไปยังกรุงเทพฯ ด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงปฏิสันถารกับท่านด้วยพระองค์เอง ในคราวนั้นพ่อท่านแช่มได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ใเป็นพระครูวิสุทธิวงศา-จารย์ญาณมุนี ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของบรรพชิตในสมัยนั้น