ซู้เจียง แซ่คอ เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เกิดที่ อำเภอหล่องเข่ มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อวันข้างแรม 25 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2340 เมื่ออายุ 25 ปี ได้เดินทางจากบ้านเกิดมาทำมาหากินที่ปีนัง พอสะสมทุนได้ก็เข้ามาค้าขายอยู่ที่เมืองตะกั่วป่า ได้อยู่ในความอุปการะของท้าวเทพสุนทร ครั้นมีทุนมากขึ้นก็ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหลักแหล่งที่ตลาดเมืองพังงา ต่อเรือกำปั่นใบวิ่งล่องค้าขายกับหัวเมืองตะวันตกและเกาะหมาก ได้เห็นว่าเมืองระนองเป็นทำเลดีมีสายแร่ดีบุกเป็นจำนวนมาก จึงย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เมืองระนองใน พ.ศ. 2388
ระหว่างค้าขายอยู่ที่เมืองพังงา ได้สมรสกับหญิงไทยชาวพังงา มีบุตรชายด้วยกัน 5 คน เมื่อย้ายไปอยู่เมืองระนอง มีบุตรชายเกิดจากภรรยาใหม่อีกหนึ่งคนเป็นคนที่ 6 ชื่อ “คอซิมบี๊” บุตรทั้ง 6 ล้วนเจริญในหน้าที่ราชการ ดังนี้
1. คอซิมเจ่ง – หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง
2. คอซิมก๊อง – พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร
3. คอซิมจั่ว – หลวงศรีสมบัติ ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง
4. คอซิมขิม – พระยาอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี
5. คอซิมเต็ก – พระยาจรูญราชโภคากร ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน
6. คอซิมบี๊ – พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และองคมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง
พ.ศ. 2389 ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 คอซู้เจียงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอประมูลผูกขาดอากรดีบุกเมืองระนองและเมืองตระ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “หลวงรัตนเศรษฐี” ตำแหน่งขุนนางนายอากรเมืองระนอง การทำเหมืองดีบุกเจริญขึ้นเรื่อย ๆ สามารถถวายอากรเป็นดีบุกน้ำหนัก 14,000 ชั่งต่อปี
พ.ศ. 2397 สมัยรัชกาลที่ 4 หลวงระนอง เจ้าเมืองคนเดิมได้ถึงแก่กรรมลง หลวงรัตนเศรษฐีได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็น “พระรัตนเศรษฐี ” ผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง
พ.ศ. 2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองตระและเมืองระนองขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พระรัตนเศรษฐีได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยารัตนเศรษฐี”
พระยารัตนเศรษฐี ได้ปกครองทำนุบำรุงเมืองระนองจนเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองมั่งคั่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ด้วยเมืองระนองอุดมไปด้วยแร่ดีบุก จึงมีผู้คนอพยพเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะชาวจีนที่มาเป็นกุลีเหมือง มีการรวมตัวเป็นอั้งยี่และก่อจลาจลขึ้น ใน พ.ศ. 2419 ทางกรุงเทพฯ ต้องส่งกำลังทหารมาช่วยปราบจนเรียบร้อย
พ.ศ. 2420 พระยารัตนเศรษฐี ซึ่งชรามากแล้ว ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศขึ้นเป็นพระยาดำรง-สุจริตมหิศรภักดี ตําแหน่งจางวางผู้กำกับราชการเมืองระนอง ทำให้พระยาศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมก๊อง) บุตรชาย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองระนอง เลื่อนขึ้นเป็น “พระยารัตนเศรษฐี” ผู้ว่าราชการเมืองระนองแทน
พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” (คอซู้เจียง) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 7 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 22 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2425 ” รวมอายุได้ 86 ปี ลูกหลานได้ฝังศพที่ฮวงซุ้ยตามธรรมเนียมจีน และขอรับพระราชทานที่ดินจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ สำหรับเป็นสุสานที่เขาระฆังทองเมืองระนอง