, , ,

ที่ตั้ง

       รอบบริเวณบ้านยังคงมีไม้ดอกไม้ประดับร่มรื่น บางต้นมีมาตั้งแต่ครั้งสร้างบ้านสร้างเมือง ข้างบ้านด้านที่ติดกับควนและริมรั้วหน้าบ้านยังมียางพาราต้นใหญ่ ๆ อีกหลายต้น แม้จะมิใช่รุ่นแรก ๆ แต่ก็เป็นรุ่นเก่าที่มีอายุเกือบร้อยปี  นับเป็นหลักฐานที่โยงใยถึงสมัยเมื่อพระยารัษฎาฯ ส่งเสริมให้ชาวเมืองตรังปลูกยางพารา จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยในวันนี้

ประวัติและความสำคัญ

       ตรงประตูทางเข้ามีถนนทอดขึ้นเนินสู่บ้านไม้ 2 ชั้นสีฟ้าหม่นท่ามกลางหมู่ไม้เขียวขจี  นั่นคือบ้านพระยารัษฎาฯ ผู้พัฒนาเมืองตรังให้พลิกโฉมหน้าสู่ความเจริญสูงสุดจนเป็นผลพวงมาถึงปัจจุบัน  บ้านหลังนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองตรัง  เพราะเมื่อพระยารัษฎาฯ บุตรชายเจ้าเมืองระนองได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง   พ.ศ. 2433  ที่ตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลควนธานี พระยารัษฎาฯ เห็นว่าไม่เหมาะแก่การพัฒนา จึงย้ายที่ตั้งเมืองไปยังกันตัง และเลือกที่ตั้งบ้านบนควนแห่งนี้ ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เรียกว่า “ควนรัษฎา” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “ในค่าย” เหมือนจวนเจ้าเมืองที่ระนอง

        ด้วยความสำคัญดังกล่าว ใน พ.ศ. 2534 คณะครูโรงเรียนกันตังพิทยากรประสานกับหน่วยราชการและชุมชนขออนุญาตจากดาโต๊ะเบียนเจง ณ ระนอง เจ้าของบ้านซึ่งเป็นหลานปู่ของพระยารัษฎาฯ เพื่อจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้  โดยมีสำนักงานจังหวัดตรังเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการในขณะนั้น จนได้รับอนุญาตเมื่อ พ.ศ. 2535  จังหวัดตรังได้สนับสนุนเงินทุนบูรณะบ้านและการจัดแสดงบางส่วน ต่อมาโรงเรียนกันตังพิทยากรได้เข้ามาดูแลให้บริการแก่ผู้เข้าชม
       เมื่อผ่านประตูบ้านเข้าไปในก้าวแรก  ผู้มาเยือนก็ต้องน้อมเคารพโดยอัตโนมัติ  เพราะพระยารัษฎาฯ นั่งซดน้ำชาอยู่ที่มุมโปรดตรงห้องโถง เหนือขึ้นไปคือพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งมีลายพระหัตถ์กำกับไว้ว่า “วชิราวุธ” และข้อความ “ให้ไว้แด่  พระยารัษฎานุประดิษฐ์  ซึ่งเป็นผู้ชอบพอคุ้นเคยกันมาช้านาน  ร.ศ. 125”   สื่อเหล่านี้เป็นไปตามแนวคิดในการจัดทำแหล่งเรียนรู้ คือ จัดให้ “เสมือนเจ้าของบ้านยังคงอยู่” เพราะฉะนั้นถัดไปในห้องอื่น ๆ ยังคงมีข้าวของเครื่องใช้ ต่าง ๆ ของเดิมในบ้าน เช่น ตู้ เตียง โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยชาม  รูปภาพ  สะท้อนให้เห็นความนิยมในยุคสมัยนั้น   ส่วนที่เพิ่มเติมมีเพียงภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและงานของพระยารัษฎาฯ

       หุ่นจำลองพระยารัษฎาฯ นั่งซดน้ำชา มาจากเรื่องราวที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสถามว่า “ทำอย่างไรจึงจะเป็นเจ้าเมืองที่ดี”  คำตอบโดยไม่รีรอของพระยารัษฎาฯ คือ “ต้องนอนซดน้ำชาอยู่ที่จวน ซดเสร็จแล้วก็ไปเที่ยวคุยกับราษฎรบ้านโน้นบ้านนี้”  การซดน้ำชาอยู่ที่จวนคือการใช้เวลาวางแผนมอบหมายงาน แล้วค่อยติดตามผลด้วยการไปคุยกับราษฎร  แม้ผ่านมาแล้วร้อยกว่าปี ก็ยังเป็นวิธีที่ยังใช้ได้เสมอสำหรับนักบริหารปัจจุบัน

       รอบบริเวณบ้านยังคงมีไม้ดอกไม้ประดับร่มรื่น บางต้นมีมาตั้งแต่ครั้งสร้างบ้านสร้างเมือง ข้างบ้านด้านที่ติดกับควนและริมรั้วหน้าบ้านยังมียางพาราต้นใหญ่ ๆ อีกหลายต้น แม้จะมิใช่รุ่นแรก ๆ แต่ก็เป็นรุ่นเก่าที่มีอายุเกือบร้อยปี  นับเป็นหลักฐานที่โยงใยถึงสมัยเมื่อพระยารัษฎาฯ ส่งเสริมให้ชาวเมืองตรังปลูกยางพารา จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยในวันนี้

       การให้บริการ เปิดทุกวันยกเว้นวันจันทร์  หากเป็นคณะใหญ่ที่ต้องการวิทยากรบรรยาย ให้ติดต่อโรงเรียนกันตังพิทยากร โทร. 0-7525-1100 จะมียุวมัคคุเทศก์จากโรงเรียนมาคอยต้อนรับนำชม

, , ,
0 0 votes
Article Rating
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x