“รถตุ๊กตุ๊ก หัวกบ” คือ เสน่ห์ของการเดินทางท่องเที่ยวของเมืองตรัง ที่ดึงนักท่องเที่ยวให้มาทดลองนั่งชมเมืองด้วยเสียงดังของเครื่องยนต์ที่ได้ยินมาแต่ไกลใคร ๆ ก็รู้แล้วว่านี่คือเสียงของรถตุ๊ก ๆ หัวกบ อันเป็นเอกลักษณ์ที่คนตรังสัมผัสรู้ บางคันก็จะมีการตกแต่งแสงสีเสียงทั้งภายนอกและภายในรถเพื่อสร้างสีสันให้ดูสวยงามถูกใจสำหรับวัยรุ่นที่ชอบความสนุกสนานไปตามวัย ให้ดูทันสมัย แปลกตาตื่นเต้นและเร้าใจแก่ผู้ที่ได้นั่งและมาเยือนเมืองตรัง สำหรับการเรียกขาน “ว่าตุ๊กตุ๊ก หัวกบ” คงเป็นเพราะส่วนประกอบด้านหน้ารถจะมีลักษณะเหมือนหัวกบตามลักษณะที่พบเห็น ในช่วงโอกาสที่ทางจังหวัดตรังจัดกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ จะได้รับเชิญเป็นเจ้าภาพร่วมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง เช่น การเข้าร่วมพิธีวิวาห์ใต้สมุทร หรือกิจกรรมที่เป็นของบุคคลและเอกชนได้จัดขึ้น การเข้าไปร่วมจัดกิจกรรมก็ช่วยสร้างสีสันจากขวนรถตุ๊กต๊ก ที่สวยงาม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียวและมีสีอื่น ๆ บ้าง เช่น ชมพู ฟ้า เหลือง ทั้งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการหรือผู้ขับรถตุ๊กตุ๊ก หัวกบ อีกทางหนึ่งได้ จากการสอบถามคนขับรถตุ๊กตุ๊ก หัวกบ บอกว่าปัจจุบันจำนวนรถตุ๊กตุ๊ก หัวกบในตรังมีประมาณ 200 คัน ทั้งที่จอดเก็บไว้ที่บ้านไม่ได้ใช้งานหรือนาน ๆ จะนำออกมาใช้สักครั้ง โดยทั่วไปเราจะพบเห็นรถตุ๊ก ๆ หัวกบได้ไม่ยากแม้ว่าจำนวนรถจะน้อยหรือจอดประจำท่าแต่จะมีวิ่งรับผู้โดยสารในเขตอำเภอเมืองแถวหอนาฬิกา แล้วก็มีจอดอประจำเพื่อรอรับผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวที่สถานีรถไฟตรัง สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดตรัง (บขส.ตรัง) รวมทั้งรับลูกค้าขาประจำที่เดินทางเข้าออกในย่านตลาดสดเทศบาลเมืองตรังเพื่อจับจ่ายสินค้าข้าวของในช่วงเช้า สนุนราคาค่าบริการก็จะอยู่ที่ระยะทางใกล้หรือไกลแค่ไหนรับส่งทั้งในเมือง และรอบนอกอยู่ที่ผู้โดยสารจะต่อรองพูดคุยกันด้วยราคามิตรภาพ ถ้าหากผู้โดยสารไม่เร่งรีบหรือใจร้อนจนเกินไปก็จะได้บรรยากาศการนั่งรถตุ๊ก ๆ หัวกบ แบบชิว ๆ แวะชมเมืองตรังได้อย่างมีความสุข แถมอาจจะโชคดีได้คนขับที่ทำหน้าที่เป็นไกด์แนะนำและบรรยายถึงแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งรับประทานอาหารที่เป็นร้านอร่อย ๆ อย่างถูกใจเลยทีเดียว รับรองว่าคุ้มค่าราคาการเดินทางกับรถตุ๊ก ๆ หัวกบแน่นอน แถมยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันอนุรักษ์ให้รถตุ๊ก ๆ ยังมีวิ่งอยู่คู่ตำนานเมืองตรังกันต่อไปอีกนานแสนนาน
สุนทรี สังข์อยุทธิ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “แลหลัง…เมืองตรัง ใต้ร่มพระบารมี” ว่ารถตุ๊กตุ๊กได้เข้ามาในจังหวัดตรังประมาณ พ.ศ. 2505 ส่วนการเริ่มนำเข้ามาใช้ในเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2503 ตรงกับสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มนำเข้ารถตุ๊กตุ๊ก ยี่ห้อไดฮัทสุ รุ่นมิทเจ็ท ดีเค จากประเทศญี่ปุ่น โดยนำมาใช้แถวย่านการค้าเยาวราช และมีการขยายการใช้งานและจำหน่ายไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มแรกคนไทยจะเรียกรถตุ๊ก ๆ ว่า “สามล้อเครื่อง” คงเป็นเพราะขับเคลื่อนได้เพราะมีสามล้อ ตรงส่วนหน้าคนขับมีหนึ่งล้อและส่วนหลังตรงที่บรรทุกของอีกสองล้อนั่นเอง ตอนที่เริ่มนำเข้ามาใช้ใหม่ ๆ ยังไม่มีหลังคา ต่อมาได้นำมาดัดแปลงส่วนต่าง ๆ และต่อเติมหลังคาเพิ่มขึ้นตรงส่วนที่นั่งของผู้โดยสารเพื่อช่วยกันแดดและฝน ใช้ประโยชน์ทั้งการขนส่งและโดยสาร พัฒนาเรื่อยมากระทั่งรูปร่างหน้าตาของรถตุ๊ก ๆ ปรากฏให้เห็นตามรูปแบบในปัจจุบัน
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………
แหล่งอ้างอิง
1. สุนทรีย์ สังข์อยุทธิ์. แลหลัง…เมืองตรัง ใต้ร่มพระบารมี. พิมพ์ครั้งที่ 1. ตรัง : เวิร์คพอยท์ พับลิชชิ่ง จำกัด, 2549.
2. https://th.wikipedia.org/wiki/ รถตุ๊ก_ ๆ (ค้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564)