ลิเกป่าเป็นศิลปะการแสดงของภาคใต้ที่แพร่หลายอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ตรัง กระบี่ พังงา ส่วนทางฝั่งทะเลตะวันออกก็มีอยู่บ้าง ที่เรียกลิเกป่า เพราะเป็นการแสดงร้องรำคล้ายคลึงกับลิเกในภาคกลาง แต่มีบทร้อง ทำนอง และเครื่องดนตรีแตกต่างกัน วิธีเล่นตลอดจนการแต่งกายเป็นแบบง่าย ๆ เหมือนชาวป่า ที่ภาษาถิ่นตรังใช้คำว่า “บก ๆ” ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของคำเรียกลิเกบกอีกชื่อหนึ่ง ส่วนชื่อลิเกรำมะนา นั้นเพราะใช้รำมะนาเป็นเครื่องดนตรีหลัก และชื่อลิเกแขกแดง คงมาจากตัวละครเอกที่เรียกกันว่าแขกแดง เดิมมีเล่นอยู่มากในชุมชนมุสลิมอำเภอกันตัง คือ แถบบ้านพระม่วง นาเกลือ หัวหิน สิเหร่ ท่าปาบ เกาะเคี่ยม บางหมาก โคกยาง เกาะลิบง ในอำเภออื่น ๆ มีที่ สิเกา ย่านตาขาว ปะเหลียน และหาดสำราญ นับเป็นศิลปะการแสดงที่นิยมกันมากในหมู่ตรังเล
ลิเกป่าคงจะเกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5-6 เพราะในบทร้องของลิเกป่ากล่าวถึงว่า “บังมาอยู่นี่ได้สิบปี กว่า… เจ้าคุณเทศาตั้งให้บังเป็นใหญ่” เจ้าคุณเทศาฯ หมายถึงพระยารัษฎาฯ ผู้ว่าราชการเมืองตรัง ซึ่งต่อมาเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ในสมัยรัชกาลที่ 5-6
เนื้อเรื่องตามบทร้องกล่าวว่าแขกแดงเป็นพ่อค้าชาวลักกะตา ซึ่งน่าจะหมายถึงกัลกัตตา มาค้าขายร่อนเร่ไปตามจังหวัดต่าง ๆ ต่อมาได้มีภรรยาเป็นไทยมุสลิมในบทเรียกว่า “อิจี” หรือ “ยายี” ในที่สุดมาตั้งหลักแหล่งที่กันตัง อยู่มาวันหนึ่งแขกแดงอยากกลับบ้านเกิดจึงขอให้ยายีเดินทางไปด้วย ตอนเดินทางออกจากท่าเรือกันตัง แขกแดงได้ชี้ชวนยายีชมธรรมชาติ ระหว่างเดินทางมีบทเรือเกยตื้นแถวหน้าเกาะลิบงกับเกาะเหลาเหลียง จากบทร้องนี้เองที่ทำให้เชื่อกันว่าลิเกป่ามีต้นกำเนิดที่จังหวัดตรัง ดังตัวอย่างตอนหนึ่งว่า
ถอนหมอช่อใบเสียงกรีดกรีด เป่าลูกหวีดสะเทือนลำนาวา
ถอนหมอช่อใบแล้วใส่ลูกรอก นาวาแล่นออกนอกท่ากันตัง
ลมออกแปรพัดหยอกฉาฉา ลมธาราพัดมากินใบ
ร่ายแล่นลัดตัดหน้าท่าส้ม เมียกั้นร่มให้พอบังแสงหวัน
แล่นลัดตัดถึงพระม่วง พอหวันตั้งดวงแล่นมาไวไว
ฯลฯ
ในสมัยก่อนบทร้องที่กล่าวถึงการเดินทางออกจากท่าเรือกันตังใช้ร้องกันในคณะของจังหวัดอื่น ๆ ด้วย แต่ภายหลังบางคณะมีการปรับเนื้อร้องให้เข้ากับพื้นที่ของตนเอง ส่วนแหล่งกำเนิดของลิเกป่านั้นบางกระแสกล่าวว่าเกิดที่เกาะศรีบอยา จังหวัดกระบี่ แต่ถ้าพิจารณาจากช่วงเวลาที่เกิดลิเกป่า ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่กันตังมีรถไฟแล้ว และกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางฝั่งทะเลตะวันตก ทำให้เกิดการรับรู้เรื่องราวของลิเกในภาคกลางจนพัฒนามาเป็นลิเกแขกแดงตามสภาพสังคมของเมืองท่ากันตังในขณะนั้น แล้วจึงแพร่หลายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่มีการติดต่อถึงกัน
ลิเกป่าคณะหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยผู้แสดงประมาณ 15 – 20 คน ทำหน้าที่ลูกคู่และเล่นดนตรีประกอบ 5 – 8 คน ส่วนที่เหลือเป็นตัวแสดง มีตัวแสดงหลัก คือ แขกแดง ยายี เสนา และเจ้าเมือง ที่เหลือเป็นตัวประกอบ เวทีแสดงปลูกเป็นโรง 6 เสา หลังคาเพิงหมาแหงน กั้นม่านกลาง ปูเสื่อแสดงบนพื้นดินหรือยกสูงก็ได้ เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองรำมะนา 2 – 3 ลูก โหม่ง ฉิ่ง ปี่ กรับ ซอ การแต่งกาย แขกแดงตัวเอกของเรื่องแต่งแบบแขกมลายู ติดหนวดเครารุงรัง สวมสร้อยลูกประคำ ยายีตัวเอกฝ่ายหญิงนุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อยอหยาผ้าลูกไม้ มีผ้าโปร่งคลุมศีรษะและห้อยคอ สะหมาดหรือเสนา แต่งแบบคนรับใช้ มักไม่สวมเสื้อ แต่งหน้าตาให้ดูตลกขบขัน นอกจากนั้นแต่งตัวตามเนื้อเรื่อง
การแสดงลิเกป่าเมื่อเริ่มต้นเล่นเรื่องเดียวกันตลอด มีลำดับขั้นตอนการแสดงเริ่มด้วยการเบิกโรงขอที่ขอทางเจ้าที่ แล้วโหมโรงด้วยการบรรเลงดนตรีล้วน ๆ ต่อด้วยบทว่าดอก คือการขับบทลูกคู่โดยผลัดกันร้องทีละคน ผลัดเปลี่ยนกันไปรอบวง บทร้องกล่าวถึงดอกไม้ พรรณนาถึงความรัก เกี้ยวพาราสี จากนั้นเป็นการไหว้ครู ขับร้องคารวะสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลายและครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนกันมา ให้ช่วยพิทักษ์รักษาคณะลิเกป่า ต่อด้วยการบอกชุดสิบสองภาษา คือขับบทเล่าเรื่องนิทานหรือเรื่องในวรรณคดีอย่างย่อ ๆ ทั้งหมด 12 ชุด จบแล้วถึงตอนสำคัญคือการออกแขกแดง โดยแขกแดงจะจุดเทียนขับบทเป็นภาษาแขกหลังม่าน แล้วขับบทขย่มม่านออกหน้าโรงในลักษณะเต้นสามขา มือหนึ่งเท้าสะเอวเต้นออกไปหน้าโรง ขับบทคารวะผู้ชมและแนะนำตัวเองไปพร้อมกัน มีลูกคู่ร้องรับ บทขับแต่ละตอน เสร็จแล้วเริ่มเล่นเรื่อง โดยแขกแดงจะเรียกยายีออกมาเพื่อชวนให้กลับบ้านด้วยกัน มีสะหมาดคอยเป็นลูกคู่โต้บทสร้างความตลกขบขัน จนลงเรือและเดินทางถึงเมืองกัลกัตตา แต่ปัจจุบันมักจะเล่นถึงเพียงตอนเรือติดหาดที่เกาะลิบงหรือเหลาเลียง แล้วมีเสนาหรือตัวตลกออกมาบอกเรื่องที่จะเล่นต่อ ส่วนใหญ่เป็นนิยายจักร ๆ วงศ์ ๆ จากวรรณคดี เมื่อการแสดงจบลง ผู้แสดงทุกคนจะออกมาหน้าม่านแล้วร้องบทส่งครูเป็นลำดับสุดท้าย
ลิเกป่าของตรังที่ยังสืบทอดการแสดงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ที่บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา ปัจจุบันใช้ชื่อ “ถาวร สุนทรศิลป์” นอกจากนี้ยังมีคณะสิทธิ์วราภรณ์ ที่ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง ที่บ้านคลองปะเหลียน ตำบลทุ่งกระบือ ที่ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว และมีโรงเรียนที่ฝึกนักเรียนเล่นลิเกป่า เช่น โรงเรียนบ้านพรุจูด โรงเรียนบ้านท่าบันได โรงเรียนเทศบาลห้วยยอดวิทยา