, , ,

       ลูกลม หรือกังหันลม เป็นของเล่นชนิดหนึ่ง มีเล่นกันทั่วไปในชนบทที่เป็นท้องทุ่ง  มี 2 ลักษณะ คือเป็นลูกลมถือวิ่ง กับลูกลมที่ “ทง” คือผูกติดไว้บนยอดไม้ใหญ่  หรือใช้ลำไม้ไผ่เป็นเสาแทนต้นไม้
       ที่ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง มีท้องทุ่งกว้างใหญ่ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับท้องทุ่งตำบลอื่น ๆ เช่น ตำบลนาพละ และตำบลนาโยงใต้ หรือเรียกรวม ๆ ว่าท้องทุ่งลุ่มน้ำคลองนางน้อย  คนอายุ 90 กว่าปีในวันนี้เล่าว่าเกิดมาพอจำความได้ก็เห็นเขาทงลูกลมกันแล้ว ต่อมาหายไปนานหลายปี เพิ่งกลับมาฟื้นฟูกันใหม่
       มีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่าพระพายเจ้าแห่งลมได้รับหน้าที่เฝ้านกกาไม่ให้มากินข้าวในนา แต่พระพายต้องไปอยู่เวรพัดลมให้เทวดาอยู่บ่อย ๆ จึงมอบหมายให้ผู้เป็นลูกซึ่งเรียกกันว่า “ลูกลม” คอยเฝ้าโห่ไล่นกกาแทน ฝ่ายลูกลมค่อนข้างขี้เกียจแต่มีปัญญาดีจึงเอาไม้ไผ่มาเหลาให้แบน ๆ หลายอันแล้วคาดทับกันเป็นกากบาทเพื่อดักลม พอลมพัดมาก็จะหมุนและเกิดเสียงดังจนนกกาตกใจหนีไป  เมื่อพระพายมาเห็นเข้าก็พอใจ เอาไปกราบทูลพระอินทร์  พระอินทร์พอพระทัยรับสั่งให้ “เวษหนู” หรือพระวิษณุเอาไปเผยแพร่ให้แก่เหล่ามนุษย์จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่ว และเรียกชื่อว่า “ลูกลม” ตามชื่อต้นคิด
       อันที่จริงเรื่องที่มาของลูกลมสัมพันธ์กับฤดูกาลและวิถีตรังนา  การทำลูกลมนั้นต้องอาศัยลมเป็นหลัก คือจะทำกันเมื่อลมตะวันออกเริ่มพัดมาประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งตรงกับเวลาที่ข้าวเริ่มสุกจนเกี่ยวข้าวเสร็จ  สิ่งสำคัญในการเล่นลูกลมคือการทำให้มีเสียงร้องที่ไพเราะและดังไปไกล ๆ  ส่วนประโยชน์ที่เป็นผลพลอยได้คือเสียงลูกลมจะทำให้นกกาตกใจไม่กล้าลงมากินข้าวในนา
       นายประเสริฐ คงหมุน ผู้ฟื้นฟูการละเล่นลูกลมที่ตำบลนาหมื่นศรี กล่าวว่าการทงลูกลมในทุ่งนาค่อย ๆ ลดน้อยลงจนหมดไปเมื่อราว พ.ศ. 2510    ครั้นเมื่อตนได้บุกเบิกเขาช้างหายให้เป็นที่ท่องเที่ยวขึ้นมา  คนที่มาเที่ยวให้ความเห็นว่าน่าจะมีการละเล่นอะไรสักอย่างเพื่อความสนุกสนาน  จึงได้คิดถึงลูกลมและคิดจัดงานประกวดลูกลมขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2535  ผู้นำและเป็นกำลังหลักของการจัดงานในครั้งนั้นคือนายประเสริฐ คงหมุน และนายบรรจบ ตงอ่อน ต่อมาเมื่อมี อบต. หรือองค์การบริหารส่วนตำบลเกิดขึ้น อบต.ก็จัดงานต่อมาจนถึงปัจจุบัน
       การแข่งขันลูกลมในปีแรก นายประเสริฐได้ชักชวนกลุ่มคนที่เคยเล่นลูกลมให้ส่งเข้าแข่งขัน ได้มา 12 ราย มีอยู่ในแผ่นโฆษณาซึ่งชำรุดมากแล้ว
       นอกจากนี้ในสมัยก่อนยังมีพิธีสำคัญคือ ก่อนวันแข่งขันแต่ละเจ้าจะนำลูกลมมารวมกันที่หน้าถ้ำเขาช้างหาย และนิมนต์พระภิกษุมาทำพิธีสมโภชลูกลมที่บริเวณหน้าถ้ำ พอวันรุ่งขึ้นจึงจะนำลูกลมไปทง  จากนั้นอีกวันสองวันกรรมการจึงไปตัดสิน  โดยพิจารณาจากเสียงร้องและความสวยงามในการตกแต่งเครื่องทรง
       เมื่อ พ.ศ. 2544 นายประเสริฐได้แจ้งจดลิขสิทธิ์การแข่งขันลูกลมไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในประเภทวรรณกรรมและได้หนังสือรับรองมาเมื่อ พ.ศ. 2548
       ส่วนประกอบของลูกลมที่สำคัญคือ ใบลูกลม หลอด และไม้แกนหรือที่เรียกว่าไม้โด่ซึ่งตรงปลายเหลาให้เล็กลงเป็นเดือยไว้สวมหลอด ถ้าเป็นลูกลมของเด็กเล่น การทำใบลูกลมใช้วัสดุบาง ๆ เช่น ใบเตย ใบตาล กาบหมาก นำมาเฉือนให้กว้างประมาณครึ่งนิ้ว ยาวสี่นิ้ว บิดปลายสองข้างให้เฉไปคนละทาง  จะใช้ใบอันเดียวหรือ 2 อันก็ได้ ถ้า 2 อันก็วางซ้อนกันเป็นรูปกากบาท เจาะรูตรงกลางเพื่อเสียบหลอด  แล้วสวมหลอดเข้ากับเดือย  ให้หลวมพอหมุนได้  พอนำลูกลมออกวิ่ง ลมก็จะดันให้ลูกลมหมุน  เท่านี้เด็ก ๆ ก็ทำเล่นเองได้ หาวัสดุธรรมชาติไม่ได้ ใช้กระดาษทำใบ หลอดดูด และไม้ตะเกียบ ก็ทำได้แล้ว
        ส่วนลูกลมที่นำขึ้นทงปลายก็ไม้ใช้หลักการเดียวกัน  วัสดุที่ใช้ทำใบเป็นไม้เนื้ออ่อนที่เหนียวพอสมควร เช่น ปอจง ทัง กำจัด เป้อ กระท้อน ฯลฯ เพื่อให้ถากได้ง่าย  การทำใบลูกลมเริ่มด้วยการถากให้แบน ๆ ยาว ๆ ที่ปลายแต่ละข้างต้องให้บิดไปคนละทางเช่นเดียวกับใบพัดหรือใบกังหันเพื่อการรับลม ตรงกลางให้นูนขึ้นเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ ลาดเอียงลง ตรงที่นูนเรียกว่านม เจาะรูกลม ๆ เล็ก ๆ ที่นมเพื่อไว้เสียบหลอด  หลอดนี้ทำด้วยไม้ไผ่ปล้อง  ส่วนไม้โด่ทำด้วยไม้กลม ๆ เหลาปลายเป็นเดือยให้ขนาดลงตัวกับหลอดที่อยู่กลางใบลูกลม  ส่วนใหญ่นิยมทำหลอดด้วยไม้ไผ่ที่ขนาดลำปล้องเสมอกัน ไม่ต้องเหลาให้เป็นเดือย แต่กลับทางโคนขึ้น  ซึ่งจะมีกิ่งไผ่กั้นไม่ให้หลอดใบเลื่อนหลุดลงล่าง  หากหลอดกับไม้แกนไม่ค่อยลงตัวดีก็ อาจมีแหวนรองใต้หลอดอีกอันหนึ่ง นิยมทำแหวนด้วยเนื้อมะพร้าว เพราะทั้งเหนียว แข็งแรง และยังมีน้ำมันหล่อลื่นให้หมุนได้คล่องขึ้นอีก
       จุดประสงค์การเล่นลูกลมที่สำคัญคือไว้ฟังเสียง ตรงปลายใบทั้งสองข้างจึงต้องติด “ลูกร้อง” ทำด้วยไม้ไผ่บาง ๆ ที่มีรู  นักเลงลูกลมแต่ละรายจะมีเทคนิคพิเศษในการทำลูกร้องให้มีเสียงไพเราะตามต้องการ  เทคนิคนี้อยู่ที่ปากลูกร้อง ซึ่งใช้ปล้องไม้ไผ่ขนาดเท่ากัน ตากให้แห้ง ซึ่งต้องตากไว้นานเป็นเดือน ด้านหนึ่งตัดตรง แต่อีกด้านหนึ่งต้องปาดปากปล้องให้เฉียง ๆ และติดขี้อุงที่ปลาย  “อุง” เป็นคำเรียกทางภาคใต้ ที่อื่นเรียกชันโรง ทำรังตามโพรงไม้ บางทีก็ทำตามหลืบซอกในบ้าน  ขี้อุงคือรังของอุงนั่นเอง  มีคุณสมบัติเหนียวคล้ายชัน  เอามาเคี่ยวแล้วติดที่ปากลูกร้อง ติดแล้วก็ทดสอบเสียงจนพอใจ
       ลูกลมที่ทงบนปลายไม้ยังมีส่วนประกอบสำคัญอีกได้แก่ หาง และกระบอกเวียน เรียกสั้น ๆ ว่า บอกเวียน ถ้าเป็นลูกลมขนาดเล็กนิยมทำหางด้วยทางหวาย  มีทั้งหวายน้ำและหวายเคี่ยมซึ่งหาได้ในท้องถิ่น  ถ้าเป็นขนาดใหญ่ทำด้วยทางระกำ ทางหมาก ทางมะพร้าว หรือไม้ไผ่ก็ได้  ซึ่งสามารถเลือกให้ขนาดได้สัดส่วนกับใบลูกลม บางทีก็เอาใบขนาดเล็กมามัดซ้อนกันให้ใหญ่ขึ้นจนได้ขนาดที่ต้องการ
       ส่วนกระบอกเวียน  ทำด้วยไม้ไผ่ เจาะรูตรงข้ามกันเพื่อไว้สอดไม้โด่ของลูกลมให้ตั้งฉากกับกระบอกเวียน  ส่วนหางลูกลมก็มัดติดกับไม้โด่ที่โผล่ออกมาจากรูอีกข้างหนึ่งและมัดตรึงไว้กับกระบอกเวียนด้วย  แล้วสวมกระบอกเวียนเข้ากับเส้า หรือ เสา เส้าหรือเสานั้นถ้าปักกับพื้นดินต้องมีขนาดใหญ่และสูงพอสมควรเพื่อให้ยืนได้มั่นคงและรับลมได้พอดี  แต่ถ้าผูกติดกับปลายไม้ก็ดูตามความเหมาะสม   ส่วนทางด้านปลายกระบอกเป็นที่เสียบธงเทียว ลักษณะเป็นธงริ้ว ยกเว้นที่ปลายยอดเป็นธงสามเหลี่ยม ความสูงของธงเทียวต้องยาวกว่าหางเล็กน้อยจึงจะได้สัดส่วนเหมาะสมกัน
       นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งอื่น ๆ  ได้แก่ ธงหน้าผ้า ซึ่งติดไว้กับไม้ที่คาดอยู่กับกระบอกเวียน เป็นธงรูปสามเหลี่ยม นิยมใช้ 4 ผืน หรือ 6 ผืน  อีกอันหนึ่งคือพ่วงโยน ใช้ด้านหน้า 1 คู่ ด้านหลัง 1 เส้น ลูกพ่วงทำด้วยกาบหมาก เย็บเป็นรูปกรวยปากกว้าง ผูกต่อกันด้วยย่านลิเภาเป็นหางยาว ช่วงบนสุดขนาดเล็กแล้วค่อยใหญ่ขึ้นจนถึงลูกสุดท้ายซึ่งมีธงสี่เหลี่ยมผูกติดไว้  พ่วงหน้าติดอยู่กับไม้คาดธงหน้าผ้า ส่วนพ่วงหลังติดไว้ค่อนไปทางปลายหาง
       จากลูกลมของเล่น เป็นลูกลมบนปลายไม้ ผ่านการลองผิดลองถูกจนได้รูปแบบที่สามารถดึงพลังลมมาใช้ให้เกิดการหมุนและได้เสียงที่ต้องการ นี่คือวิศวกรรมอากาศของชาวบ้าน นี่คือภูมิปัญญา และ นี่คือนวัตกรรมของยุคสมัยเมื่อศตวรรษที่แล้ว
       ปรากฏการณ์แห่งลูกลมอีกเรื่องหนึ่งที่เล่าขานกันมาไม่รู้จบ  คือเรื่องของฝูงสัตว์ผู้ซุกซนแห่งหัวเขาเคยมีลิงตัวหนึ่งจากฝูงนี้ปีนขึ้นไปเกาะอยู่ที่ปลายใบลูกลม เพียงเพื่อจะกินขี้อุงที่ติดไว้กับปลายปากลูกร้องของลูกลมที่ใหญ่เป็นพิเศษ ยาวราว 4 เมตร ปากลูกร้องและก้อนขี้อุงก็ใหญ่ตามไปด้วย  ขณะที่ควักขี้อุงกินเพลิน ๆ ก็มีลมพัดมา พอใบพัดเริ่มหมุนเบา ๆ เจ้าลิงเริ่มรู้สึกตัว หยุดมือควักมาเกาะใบพัดแน่น แต่ลมก็ยิ่งแรงขึ้น รอบหมุนก็ถี่ขึ้นจนมือหลุดจากที่จับ แรงเหวี่ยงของลูกลมทำให้ร่างเจ้าลิงลอยละลิ่วปลิวไปตกอีกฟากหนึ่งของหัวเขาซึ่งเป็นผืนนาของตำบลนาพละ ตอนฟังเรื่องเล่านี้มีคนถามว่า “แล้วลิงตายมั้ย”  คนเล่าบอกว่าให้ไปถามคนนาพละดูเองก็แล้วกัน เผื่อใครเก็บลิงได้
       จากพลังแห่งลม มาถึงค่อนศตวรรษนี้ นวัตกรรมลูกลมกำลังเดินหน้าอีกก้าวหนึ่ง ด้วยผลงานของนายประเสริฐ คงหมุน ที่ทดลองสร้างลูกลมผลิตพลังงานไฟฟ้า  ลูกลมนี้ได้อวดโฉมแล้วในงาน “แลลูกลม ชมถ้ำเขาช้างหาย” ปี 2561  แต่ผู้สร้างกล่าวว่ายังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อจะได้ต้นแบบที่สมบูรณ์

, , ,
0 0 votes
Article Rating
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x