, , ,

          วัดตันตยาภิรม  หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดต้นตอ” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อ “วัดตันตยาภิรม” เมื่อ พ.ศ. 2481 โดยพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตตมเถระ) วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร รวมแล้วมีอายุประมาณ 133 ปี  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครตรัง  เลขที่ 156  ถนนท่ากลาง  ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

          อาณาเขต  วัดตันตยาภิรม มีเนื้อที่ 9 ไร่ 76 ตารางวา หน้าวัดหันไปทางทิศใต้

                     ทิศเหนือ          ติดคลองห้วยยาง

                     ทิศใต้              ติดถนนหลวงตรัง – สิเกา

                     ทิศตะวันออก     ติดถนน้ำผุด

                     ทิศตะวันตก      ติดการประปาส่วนภูมิภาคตรัง   

          ประวัติวัดตันตยาภิรม  เล่าสืบต่อกันมาว่าเริ่มแรกประมาณพุทธศักราช 2430 บริเวณที่ตั้งวัดตันตยาภิรมในปัจจุบันนั้น  เดิมเป็นที่ดินของปลัดจีนชื่อหลวงสมานสมัคจีนนิกร กับ แม่หนูเกษ (ภรรยา)  ซึ่งในสมัยนั้นมักมีพระภิกษุรุกขมูลเดินธุดงค์มาพักอาศัยใต้ต้นสะตอใหญ่อยู่เสมอ  ชาวบ้านผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็จะร่วมกันถวายทานรักษาศีลเป็นประจำ และต่อมาก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัด

          ต่อมาประมาณพุทธศักราช 2481 พระธรรมวโรดม (เซ่ง) อุตฺตมเถระ) เจ้าคณะมณฑลภูเก็ต สถิต ณ วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร ได้เปลี่ยนชื่อวัดต้นสะตอเป็น “วัดตันตยาภิรม”  โดยอาศัยชื่อขุนภิรมสมบัติและแซ่ตันของท่าน  จึงได้ถือเป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนั้น   และต่อมาในวันที่ 26  เมษายน พ.ศ. 2463 ก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (เขตที่พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ หรือแปลให้ง่ายขึ้นได้ว่า เขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถโดยประกาศเป็นพระบรมราชโองการ)   

          พุทธศักราช 2509 – 2511  กรมการศาสนา ได้ประกาศยกย่องให้วัดตันตาภิรมเป็นวัดพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาลและของกรมการศาสนา   วัดแห่งนี้จึงได้รับการพัฒนาปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยให้ถูกต้องเหมาะสม  โดยได้จัดทำแผนผังของวัดให้เป็นมาตรฐานตามเกณฑ์เพื่อการก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่าง ๆ ให้เป็นสัดส่วนมีระเบียบแบบแผน  เช่น เขตพุทธาวาส  เขตสังฆาวาส  โรงเรียนปริยัติธรรม เป็นต้น     

          ความสำคัญ  มีดังนี้

1. เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ตั้งแต่พุทธศักราช 2461 จนถึงพุทธศักราช 2476 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาจึงยกเลิกไป
2. เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของพระภิกษุ และสามเณร ตั้งแต่พุทธศักราช 2491 จนถึงพุทธศักราช 2495 จึงได้โอนย้ายสำนักเรียนไปยังวัดกะพังสุรินทร์  ซึ่งมีความพร้อมด้านบุคลากรมากกว่า
3. เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา “โรงเรียนเทศบาล 6 วัดตันยาภิรม”
4. เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน ตั้งแต่พุทธศักราช 2514 นับเป็นโรงเรียนสำหรับสร้างงานและพัฒนาความก้าวหน้าของฆราวาสชาย – หญิง เป็นแห่งแรกในจังหวัดตรัง
5. เป็นสถานที่ฝึกอบรมพระภิกษุ และสามเณรบวชใหม่ระหว่างพรรษา ตลอดจนเป็นสถานที่ฝึกอบรมคุณธรรม  ศีลธรรม  วัฒนธรรม  ระเบียบ และประเพณีต่าง ๆ แก่ครู – อาจารย์ ของจังหวัดตรังเป็นประจำทุกเดือน
6. เป็นสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานประจำจังหวัดตรังแห่งที่ 1

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………

แหล่งอ้างอิง    

  1. กระทรวงวัฒนธรรม. ปกิณกวัฒนธรรม จังหวัดตรัง. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : รุ่งศิลปะการพิมพ์, 2554.
  2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ :

ธรรมศาสตร์, 2551

, , ,
0 0 votes
Article Rating
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x