, , ,

          ในกลุ่มสังคมผู้คน นอกจากปัจจัยสี่ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตแล้ว จิตใจนั้นก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ หากจิตใจมีความเข้มแข็ง กล้าที่จะเผชิญกับปัญหาแล้ว ก็ถือว่าจิตใจสามารถบังคับตนเองให้ดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีความสุข แต่ในทางตรงกันข้าม หากจิตใจเกิดความกลัว ไม่พร้อมที่จะกล้าจะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ได้นั้น ก็อาจทำให้การดำเนินชีวิตการสิ่งใดสิ่งนั้นไม่สำเร็จผล หรือไม่เป็นไปตามที่ตนคาดหวัง สิ่งที่ตามมาคือความท้อแท้ สิ้นหวัง ความเบื่อหน่าย แต่สิ่งที่คอยเป็นศูนย์รวมใจพึ่งพายึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ ทุกเชื้อชาติ ทุกประเทศ นั่นคือ สิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นศาสนา ลัทธิ ความเชื่อต่าง ๆ   ซึ่งในแต่ละพื้นที่ เชื้อชาติก็จะแตกต่างกันออกไป และยังได้รับการยอมรับนับถือจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าเป็นสิ่งที่สร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต และชี้แนะแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ผลเป็นที่ประจักษ์ ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล

          หนึ่งในศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนในเมืองตรัง นั่นคือ ศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มชาวจีนที่อพยพเข้ามาในเมืองตรัง โดยมีกำลังหลักคือกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย เป็นศาลเจ้าที่สถิตของเทพเจ้าจิ๋วหวังต้าตี้ (เก้าราชานพเคราะห์) อันเป็นเทพเจ้า ราชาดาวนพเคราะห์ 9 ดวง ตามความเชื่อของชาวจีน มีประวัติกล่าวว่า เมื่อ 160 ปี มาแล้ว กลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนได้พากันอพยพเข้ามาทางเรือ ตามแม่น้ำตรัง มาขึ้นที่ท่าน้ำตรงบ้านท่าจีน ซึ่งเป็นบริเวณชานเมืองในปัจจุบัน มีกลุ่มชาวจีนที่อาศัยอยู่หนาแน่นบริเวณชานเมืองในปัจจุบัน และได้นำอัญเชิญกระถางธูปของเทพเจ้าราชาดาวนพพระเคราะห์ 9 ดวง จากเมืองจีน มาบูชาและจัดพิธีถือศีลกินเจ บริเวณวัดท่าจีน ซึ่งเป็นวัดในหมู่บ้าน ต่อมามีผู้คนเข้าร่วมพิธีมากขึ้นทุกปี กลุ่มชาวจีนที่เป็นแกนนำหลักสำคัญ จึงเห็นสมควรขยายและจัดหาที่ดินให้เป็นสัดส่วน จนในปี พ.ศ. 2463 เมื่อกาลเวลาผ่านไปศาลเจ้าเริ่มจะผุพังไปตามกาลเวลา เพราะตัวศาลเดิมสร้างด้วยไม้ ดังนั้นจึงมีการร่วมใจตกลงกันว่าจัดสร้างศาลเจ้าหลังใหม่ในปี พ.ศ. 2495   โดยคณะกรรมการศาลเจ้า และบุคคลอื่นอีกประมาณ 36 คน

          ภายในศาลเจ้า มีแท่นบูชาฟ้าดิน แท่นบูชาเทพเจ้าราชาดาวนพพระเคราะห์ 9 ดวง ศาลเจ้าแม่กวนอิมและตั๋วแป๊ะกง ศาลพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ซึ่งตัวอาคารศาลเจ้ามีการจัดรูปแบบโครงสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมและธรรมเนียมวัฒนธรรมแบบจีนตอนใต้ นอกจากนี้ศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย ยังมีชื่อเรียกของผู้คนในพื้นที่อีกชื่อหนึ่งว่า “โรงพระกินผัก” ซึ่งเหตุที่เรียกเช่นนี้ เนื่องจากศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ย เป็นศาลเจ้าที่จัดงานถือศีลกินเจของเมืองตรังมาหลายชั่วอายุคน การถือศีลกินเจที่เมืองตรังชาวตรังจะเรียกว่ากินผัก เรียกศาลเจ้าว่าโรงพระ โดยศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ยยังคงรูปแบบขนบธรรมเนียม ในการถือศีลกินเจแบบดั้งเดิม ซึ่งต่อมาศาลเจ้ากิวอ๋องเอี่ยได้เป็นต้นแบบให้กับหลายศาลเจ้าหลายแห่งในพื้นที่เมืองตรังในการจัดงานประเพณีถือศีลกินเจ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับเมืองตรังและคู่ศาลเจ้าในเมืองตรังตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล : นายวชิรวิชญ์  ชิดเชื้อ โรงเรียนวิเชียรมาตุ ตรัง

, , ,
0 0 votes
Article Rating
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x