, , ,

ที่ตั้ง 

       ถนนหน้าค่าย ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง

       ละติจูด 7° 24′ 36″ เหนือ   ลองจิจูด 99° 31′ 12″ ตะวันออก

       การเดินทางเริ่มต้นจากตัวเมืองตรังไปตามถนน 403 ตรัง-กันตัง ระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่สี่แยกหน้าที่ว่าการอำเภอ เข้าถนนหน้าค่าย เมื่อถึงแยกหน้าที่ทำการไปรษณีย์ตรงไปอีกเล็กน้อยจะถึงอาคารสถานี

ประวัติและความสำคัญ

       สถานีรถไฟกันตังมีที่มาจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ต่อจากเพชรบุรีไปถึงมลายูใน พ.ศ. 2453 ปีสุดท้ายของรัชกาลที่ 5  และเริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2454 ในรัชกาลที่ 6  สำหรับเส้นทางกันตัง – ทุ่งสง เป็นสายแยกทางฝั่งตะวันตก ที่ก่อสร้างจากกันตังขึ้นไปทุ่งสง เพราะเหล็กรางรถไฟและเครื่องจักรกลต้องนำเข้าทางเรือมาขึ้นที่ท่าเรือกันตัง ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานชั่วคราวประกอบรถจักรล้อเลื่อนต่าง ๆ เพื่อส่งขึ้นไปกรุงเทพฯ

       การเดินรถครั้งแรกเริ่มจากสถานีกันตังไปห้วยยอด ในวันที่ 1 เมษายน 2456 ต่อมาเปิดการเดินรถจากห้วยยอดไปยังทุ่งสงในวันที่ 1 มกราคม 2456 (ก่อน พ.ศ. 2484 นับเดือนเมษายนเป็นเดือนที่ 1 เดือนมกราคมเป็นเดือนที่ 10)  เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ของทางรถไฟสายเดียวที่สุดฝั่งอันดามัน ซึ่งทำให้กันตังเป็นท่าเรือศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมของฝั่งทะเลตะวันตกทั้งในประเทศและต่างประเทศ  และยังเปิดการเดินรถต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

       ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว โดดเด่นด้วยสีเหลืองสลับน้ำตาลและลายไม้ฉลุ  โครงสร้างอาคารเป็นไม้ทั้งหลัง ผนังไม้ตีชิดทางตั้ง ประดับช่องลมไม้ระแนงตีเว้นช่องไขว้กันเป็นตารางแบบทแยงมุม ด้านหน้าของอาคารมีมุขยื่น มีการตกแต่งประดับมุมเสาด้วยไม้ฉลุลวดลายสวยงาม ส่วนตัวอาคารที่ใช้เป็นห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ ประตูหน้าต่างที่เป็นบานเปิดไม้ค่อนข้างสูง ประดับช่องลมบานเกล็ดไม้แบบจีน    ช่องลมไม้ระแนงตีเว้นช่องไขว้กันเป็นตารางแบบทแยงมุม  ส่วนที่เป็นโถงมีรั้วลูกกรงไม้พร้อมบานประตูขนาดเล็กกั้นพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน

       กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 15 ตุลาคม 2539

       ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 113 ตอนพิเศษที่ 50 ง  วันที่ 8 ธันวาคม 2539

, , ,
0 0 votes
Article Rating
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x