กันตังในพจนานุกรมภาษามลายู ได้รวบรวมและให้ความหมายของคำว่า Kantang (กันตัง) หมายถึงเขื่อนดินที่ปากแม่น้ำ (อาซิซ บิน มูฮัมมัด อีซา ม.ป.พ. : 251)
กันตังในพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 กล่าวว่า กันตัง เป็นคำนาม หมายถึง ชื่อไม้ต้นมีใบคัน เป็นชื่อไม้ล้มลุกชนิดหนึ่งในตระกูล Alpinia วงศ์ Zingiberaceae ต้นคล้ายข่า
“กันตัง” ชื่อนี้ มาจากคำมลายูว่า “กัวลาเตอรัง” (Kuala Terang) คำว่า “กัวลา” หมายถึงปากน้ำ เช่น กัวลาลัมเปอร์ หมายถึงปากน้ำมีดินโคลน ส่วน “เตอรัง” หมายถึง เมืองตรัง เมื่อรวมคำทั้งสองเข้าด้วยกัน จึงหมายถึง ปากน้ำเมืองตรัง เมื่อชาวบ้านออกเสียงสั้นและรวบรัดจึงเป็น “กราตัง-กระตัง” จนในที่สุดก็กลายเป็น “กันตัง” (ประพนธ์ เรืองณรงค์ 2551 : 38)
กันตัง ได้รับการตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2440 มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งในเขตการปกครองของจังหวัดตรัง ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ ณ ถนนตรังภูมิ มีทั้งหมด 14 ตำบล ได้แก่ กันตังใต้ ตำบลบางเป้า ตำบางหมาก ตำลวังวัน ตำบลคลองชีล้อม ตำบลควนธานี คำบลโคกยาง ตำบลย่านซื่อ ตำบลคลองลุ ตำบลบ่อน้ำร้อน ตำบลนาเกลือ ตำบลบางสัก ตำบลเกาะลิบง และตำบลกันตัง ระยะทางห่างจากจังหวัดตรังประมาณ 25 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้ทั้งรถยนต์และรถไฟซึ่งจะสุดสายที่สถานีกันตัง มีเนื้อที่ทั้งหมด 609,635 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 375,000 ไร่
อาณาเขต
ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอเมืองตรังและอำเภอสิเกา
ทิศใต้ติดต่อมหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันออกติดต่ออำเภอย่านตาขาวและอำเภอปะเหลียน
ทิศตะวันตกติดต่ออำเภอสิเกา จังหวัดตรังและมหาสุทรอินเดีย
ลักษณะภูมิศาสตร์ มีแม่น้ำ 2 สายไหลผ่านลงสู่มหาสมุทรอินเดียคือแม่น้ำตรังและแม่น้ำปะเหลียน พื้นที่ทำกินจึงเป็นลักษณะน้ำกร่อยซึ่งเกิดจากรอยต่อระหว่างน้ำเค็มและน้ำจืดมาบรรจบกัน ประกอบกับลักษณะพื้นที่มีความลาดเอียงเมื่อฝนตกหนักหรือน้ำท่วมก็จะพัดพาหน้าดินที่มีสารอินทรีย์มาทับถม และเป็นลักษณะดินโคลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำนา ๆ ชนิด ที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ชุมชนต่าง ๆ ในอำเภอกันตังมีความเป็นอยู่ที่ดีได้ด้วยการประกอบอาชีพประมง และอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่
ในทางประวัติศาสตร์จากหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม ๑ ได้บรรยายเรื่องเกี่ยวกับอำเภอกันตังไว้ว่าสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหลวงอุไทยราชธานี (ม่วง) มาเป็นเจ้าเมืองตรังที่ควนธานีนั้น กันตังมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน มีกองกำลังลาดตระเวนประจำการอยู่ในหลายท้องที่ ดังข้อความปรากฎในสำเนาตราตั้งพระยานคร (น้อย) ตอนหนึ่งว่า “…อนึ่งเมืองตรังเป็นเมืองล่อแหลมอยู่ฝ่ายทะเลตะวันตกจะไว้ใจมิได้ ให้พระยานครปรึกษาด้วยกรมการ กะเกณฑ์หลวง ขุนหมื่น และชาวด่าน คุมเรือรบเรือไล่สรรพไปด้วยปีนใหญ่น้อย กระสุนดินประสิว เครื่องศาสตราวุธ ออกไปอยู่พิทักษ์รักษาประคอด่านต่อแดน ทั้งกลางวันกลางคืนลาดตะเวนฟังข่าวราชการหน้าด่านต่อแดนจงเนือง ๆ อย่าให้ไอ้สลัดเหล่าร้ายและพม่ารามัญเล็ดลอดจู่โจมเข้ามาจับผู้คนไปได้เป็นอันขาดทีเดียว…”
เมื่อ พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกได้เสด็จมาถึงเมืองตรัง ซึ่งขณะนั้นตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลควนธานี มีพระยาตรังคภูมิมาภิบาล (เอี่ยม ณ นคร) เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองตรังอยู่ในสภาพที่รุดโทรมหนักไม่อยู่ในลักษณะที่จะบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองกระบุรี มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง ซึ่งพิจารณาเห็นว่าสถานที่ตั้งเมืองที่ตำบลควนธานีนั้นไม่เหมาะสม เพราะไม่มีทางจะปรับปรุงให้เจริญรุ่งเรืองได้ จึงรายงานขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายที่ตั้งเมืองไปตั้งที่ตำบลกันตังจะเหมาะสมกว่า ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งที่ว่าการอำเภอกันตัง และย้ายจากควนธานีมาที่อำเภอกันตังเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2436 ต่อจากนั้นก็ได้ปรับปรุงและปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนอย่างรวดเร็ว สร้างสะพานเทียบเรือขึ้นใหม่ ซึ่งต่อมาได้รับประทานนามจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า “สะพานเจ้าฟ้า”
ในปี พ.ศ. 2458 ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเมืองกันตังครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และเกิดอหิวาตกโรคระบาด ทรงเห็นว่าตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรักหรืออำเภอเมืองในปัจจุบันเหมาะจะเป็นที่ตั้งเมืองมากกว่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองจากอำเภอกันตังมาตั้งที่ตำบลทับเที่ยงดังทุกวันนี้
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………
แหล่งที่มา :
1. เทศบาลเมืองกันตัง. เที่ยวกันตัง. พิมพ์ครั้งที่ 1. ตรัง : เอสพริ้นท์ (2004) จำกัด, 2551.
2. ประพนธ์ เรืองณรงค์. ชื่อบ้านนามเมืองภาคใต้ จังหวัด อำเภอ และสถานที่ บุคคลบางชื่อ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สถาพรบุคส์, 2551.
3. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม บับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556
4. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม ๔ จับ : ชาบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณชย์, 2542.
5. อีซา, อาซิซ บิน มูฮัมหมัด. พจนานุกรมภาษามลายู – ภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรวัฒนา, ม.ป.พ.