ที่ตั้ง
หมู่ที่ 2 ตำบลเหล อำเภอกะปง
ละติจูด 8° 46 ′ 12″ เหนือ ลองจิจูด 98° 25 ′ 12″ ตะวันออก
การเดินทาง เริ่มต้นจากอำเภอตะกั่วป่าตามถนนสาย 401 ตะกั่วป่า – สุราษฎร์ ประมาณ 17 กิโลเมตร ระหว่างกิโลเมตรที่ 132 – 133 ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนสายเล็ก เมื่อถึงชายฝั่งแม่น้ำตะกั่วป่า จะเห็นแหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม สามารถเดินข้ามไปได้
ประวัติและความสำคัญ
เขาพระนารายณ์มีลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำตะกั่วป่า ตรงบริเวณคลองกะปงบรรจบกับแม่น้ำตะกั่วป่า มีหลักฐานการเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์
สิ่งที่เป็นหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ได้แก่ ประติมากรรมที่สลักจากหินชนวนในศาสนาพราหมณ์ 3 องค์ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 สันนิษฐานว่า เป็นพระนารายณ์ ฤาษีมารกัณเฑยะหรือพระลักษณ์ และนางภูเทวีหรือนางสีดา แสดงถึงอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย รวมทั้งยังพบจารึกภาษาทมิฬ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 14 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นจารึกหลักที่ 26 กล่าวถึงการขุดสระน้ำในพื้นที่ชุมชน ที่สันนิษฐานว่าอาจเป็นชุมชนของชาวทมิฬ
มีเรื่องเล่าว่าในคราวสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 พม่าได้ไปพบเทวรูปพระนารายณ์และเทพบริวารบนเขาแห่งนี้ จึงขนย้ายลงมาเพื่อจะนำกลับไปเมืองพม่า แต่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง น้ำป่าไหลหลาก ไม่สามารถนำไปได้ จึงวางพิงต้นตะแบกไว้จนต้นไม้ขึ้นหุ้มเทวรูปจนเกือบมิด ภายหลังมีผู้มาพบและเคลื่อนย้ายไปไว้ที่อื่น ทางกรมศิลปากรจึงได้เก็บรักษาไว้ เมื่ิอก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต ก็ได้นำประติมากรรมทั้ง 3 ชิ้นและจารึกไปจัดแสดงไว้ในฐานะที่เป็นโบราณวัตถุสำคัญที่แสดงถึงประวัติศาสตร์และพัฒนาการของพื้นท่ีชายฝั่งทะเลอันดามัน
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 5 กันยายน 2548
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 122 ตอนพิเศษ 126 ง วันที่ 7 พฤศจิกายน 2548