, ,

ภูมิศาสตร์

       จังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 7 องศา 45 ลิปดา ถึง 8 องศา 15 ฟิลิปดาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 98 องศา 15 ลิปดา ถึง 98 องศา 30 ฟิลิปดาตะวันออก เป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นเกาะ ทั้งยังเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีพื้นที่ประมาณ 339,396 ไร่       
       ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาทอดในแนวเหนือใต้ มีพื้นที่ภูเขาประมาณร้อยละ 70 ของเกาะ ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกจึงเป็นแนวกำบังลมและฝนทำให้ปลอดภัยจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนพื้นที่ราบมีประมาณร้อยละ 30 ของเกาะ ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางฝั่งตะวันออกและบริเวณชายฝั่งตะวันตก      
       ชายฝั่งด้านทิศตะวันออกเป็นหาดโคลนและป่าชายเลน ส่วนด้านทิศตะวันตกจะเป็นหาดทรายสวยงาม มีเกาะนอกชายฝั่งประมาณ 36 เกาะ        
       จากลักษณะทางธรณีวิทยาของเกาะภูเก็ตที่ประกอบด้วยหินชุดต่าง ๆ รวมทั้งหินอัคนี ที่คลุมพื้นที่ 2 ใน 3 ของเกาะ โดยเฉพาะหินอัคนีชุดเขาโต๊ะแซะนั้นมีศักยภาพในการให้แร่ดีบุกสูงสุด  แผ่นดินภูเก็ตในอดีตจึงนับได้ว่าเป็นเมืองแห่งแร่ 
       ลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

ประวัติศาสตร์

       หลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ในเกาะภูเก็ตนั้น  พบว่าแถบบ้านกมลา  อำเภอกะทู้  มีเครื่องมือหินขัดและภาชนะดินเผาที่แสดงว่ามีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว        
       ประมาณ พ.ศ. 700 มีชื่อ Junk Ceylon ในหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมี ซึ่งหมายถึงเกาะถลางหรือภูเก็ตปัจจุบัน แต่ยังไม่มีหลักฐานชุมชนในสมัยนั้น ชื่อถลางเพิ่งปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชในชื่อ “ตะกั่วถลาง”  เมืองตราสุนัข ประจำปีจอ หนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช        
       เมื่อถึงสมัยอยุธยาเมืองถลางเคยเป็นสถานีการค้าของฮอลันดาเพราะมีทรัพยากรที่สำคัญคือแร่ดีบุก ต่อมาฝรั่งเศสได้เข้ามาผูกขาดการค้าดีบุกของถลางแทนอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็ต้องเลิกไปเพราะเกิดแตกร้าวกันขึ้นในสมัยสมเด็จพระเพทราชา        
       ในสมัยธนบุรี พ่อค้าชาวอังกฤษชื่อฟรานซิส ไลท์ ได้มาตั้งบ้านเรือนค้าขายอยู่ที่เกาะถลาง ต่อมาได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลอังกฤษให้เป็นผู้ว่าราชการของปีนัง  ยังคงติดต่อค้าขายกับหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 รัตนโกสินทร์        
       พ.ศ. 2328  เมืองถลางถูกพม่ายกกองทัพเข้ามาตี  แต่เป็นช่วงที่เจ้าเมืองถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว มีท่านผู้หญิงจันภรรยาเจ้าเมืองกับคุณมุกน้องสาวร่วมกับชาวเมืองต่อสู้จนสามารถรักษาเมืองเอาไว้ได้ จึงได้รับแต่งตั้งเป็น “ท้าวเทพกษัตรี”  และ “ท้าวศรีสุนทร”  ต่อมาใน พ.ศ. 2352 พม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลางอีกครั้ง ทำให้เมืองถลางเสียหายยับเยินมาก และมีผู้ว่าราชการเมืองต่อมาอีกหลายคนจนถึงสมัยของพระยาถลาง(เจิม) ได้ให้บุตรชายชื่อแก้วไปเป็นเจ้าเมืองภูเก็ต เดิมภูเก็ตเป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่ก่อนแล้ว แต่คงจะร้างรา ไปหลังศึกพม่า 2352 นายแก้วได้ตั้งเมืองภูเก็ตใหม่ที่บ้านเก็ตโฮ่ ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระภูเก็ตโลหะ- เกษตรารักษ์ มีบุตรชายชื่อทัด  นายทัดได้พบแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ที่บ้านทุ่งคา จึงตั้งหลักฐานทำแร่ขึ้น ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองภูเก็ตแทนบิดา จึงย้ายที่ตั้งเมืองมายังบ้านทุ่งคา  เมืองภูเก็ตที่ทุ่งคาเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดเมืองภูเก็ตได้ยกฐานะเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ส่วนเมืองถลางกลายเป็นเมืองที่ขึ้นต่อภูเก็ต
        พ.ศ. 2418 มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการปกครองหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก คือทางกรุงเทพฯ ได้ตั้งข้าหลวงใหญ่มาประจำที่ภูเก็ตเพื่อกำกับดูแลราชการ โดยเฉพาะผลประโยชน์จากดีบุก จนถึง พ.ศ. 2435 ที่เริ่มการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งยังเป็นมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตกในระยะแรก มาเปลี่ยนเป็นมณฑลภูเก็ตใน พ.ศ. 2437  เมื่อยกเลิกมณฑลใน พ.ศ. 2476 ภูเก็ตก็เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

เขตการปกครอง

       จังหวัดภูเก็ต แบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ  ได้แก่

1. อำเภอเมืองภูเก็ต 
2. อำเภอถลาง               
3. อำเภอกะทู้

, ,
0 0 votes
Article Rating
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x