ภูมิศาสตร์
จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 7 องศา 4 ลิปดาเหนือ ถึง 8 องศาเหนือ และลองจิจูดที่ 99 องศา 15 ลิปดาตะวันออก ถึง 100 องศา 2 ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 3,088,399.30 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศแบ่งเป็น 4 เขต คือ เขตภูเขาและเชิงเขา เขตลอนลูกฟูกหินปูน เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ และเขตชายฝั่งทะเล
บริเวณชายฝั่งที่ติดกับทะเลอันดามันมีความยาวประมาณ 119 กิโลเมตร มีเกาะนอกชายฝั่งประมาณ 54 เกาะ มีเกาะที่สำคัญ ๆ ได้แก่ เกาะกระดาน เกาะลิบง เกาะสุกร ฯลฯ
ลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
ประวัติศาสตร์
ตรังเป็นเมืองท่าโบราณที่มีประวัติยาวนานนับพันปี สามารถย้อนกลับไปได้ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ผู้คนยังไม่รู้จักสื่อสารด้วยตัวอักษร มีหลักฐานตามถ้ำเขาต่าง ๆ ว่าบรรพบุรุษของชาวตรังอาศัยอยู่บนแผ่นดินนี้มาไม่น้อยกว่า 5,000 ปี
ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยความรุ่งเรืองของอาณาจักรโบราณในภาคใต้ เช่น ตามพรลิงค์ ศรีวิชัย แม่น้ำตรังเป็นหนึ่งในเส้นทางข้ามคาบสมุทรของผู้คนจากอินเดีย อาหรับ ตลอดจนยุโรป อ้างอิงได้จากตำนานท้องถิ่นและโบราณวัตถุที่ยังเหลืออยู่ เช่น พระพิมพ์ดินดิบที่ถ้ำในเขตอำเภอห้วยยอด ตำนานนางเลือดขาวที่กล่าวถึงการสร้างวัดพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์
หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าท่าเรือเมืองตรังเป็นประตูทางผ่านศาสนา การค้าและการทูตจากต่างแดนตั้งแต่เริ่มอาณาจักรโบราณในภาคใต้ โดยเมืองตรังมีชื่อในฐานะเป็นเมืองตราม้า หนึ่งในเมือง 12 นักษัตร ของนครศรีธรรมราชเรื่องที่ตั้งเมืองนั้นเพิ่งมีหลักฐานชัดเจนในสมัยอยุธยาว่าอยู่ที่เขาสามบาตร ตำบลนาตาล่วง แล้วมีการย้ายที่ตั้งอีกหลายครั้ง ได้แก่ที่เกาะลิบง ควนธานี กันตัง จนในที่สุดมาตั้งที่ตำบลทับเที่ยงปัจจุบัน
เมืองตรังมักจะถูกกล่าวชื่อในฐานะส่วนหนึ่งของนครศรีธรรมราชมาตลอด จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้เปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก และต่อมาเมื่อมีระบบมณฑล ตรังอยู่ในการปกครองของมณฑลภูเก็ต หลังการประกาศยุบเลิกระบบมณฑล ตรังเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยมาจนปัจจุบัน
เขตการปกครอง
จังหวัดตรังแบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ ได้แก่
1. อำเภอเมืองตรัง
2. อำเภอกันตัง
3. อำเภอย่านตาขาว
4. อำเภอปะเหลียน
5. อำเภอสิเกา
6. อำเภอห้วยยอด
7. อำเภอวังวิเศษ
8. อำเภอนาโยง
9. อำเภอรัษฎา
10. อำเภอหาดสำราญ