ที่ตั้ง
ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี
เริ่มต้นจากตัวจังหวัดระนอง ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 เส้นทางระนอง – ชุมพร จุดที่ตั้งหินสลักพระปรมาภิไธยย่ออยู่ตรงเขตแดนของสองจังหวัด ฝั่งถนนตรงข้ามเป็นโรงเรียน จปร. ระยะทางห่างจากจังหวัดระนองประมาณ 92 กิโลเมตร
ประวัติและความสำคัญ
หินสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ในรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้ เมื่อเสด็จฯ ผ่านในวันที่ 21 เมษายน ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) ความปรากฏในหนังสือระยะทางเสด็จฯ ประพาสทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู ร.ศ. 109 บริเวณนั้นเรียกว่า “ตร่อน้ำแบ่ง” เป็นเขตแดนระหว่างเมืองชุมพรกับเมืองกระในสมัยก่อน ซึ่งรวมเป็นเมืองระนองในภายหลัง ต่อมาในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรภาคใต้ เมื่อรถยนต์พระที่นั่งจากชุมพรผ่านบริเวณนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และพระนามาภิไธยย่อ สก. ไว้ด้วยกัน เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม 2502 ส่วนพระนามาภิไธยย่อ สธ. ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จารึกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2531 ต่อมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนองได้สร้างศาลาคลุมหินสลักไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จฯ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์