ที่ตั้ง
หมู่ที่ 4 บ้านในวัง ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา ที่ตั้งถ้ำแห่งนี้มีลำธารไหลลอดผ่านออกมาจากถ้ำ เรียกชื่อว่าคลองปาง ต้นคลองปางอยู่ที่บ้านปลายวา หมู่ที่ 6 ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา ไหลมาลงแม่น้ำตรังที่ตำบลคลองปาง แนวคลองนี้ถือเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดตรังกับนครศรีธรรมราช
การเดินทางเริ่มจากตลาดคลองปาง อำเภอรัษฎา ไปตามถนนเพชรเกษมที่มุ่งสู่ทุ่งสง ถึงสี่แยกบางขันเลี้ยวขวาไปตามถนนสาย 4161 ประมาณ 16 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามป้ายชี้ทาง
ประวัติและความสำคัญ
ความเป็นมาของชื่อถ้ำมีตำนานว่า ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เมืองนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองเอก มีหน้าที่กำกับดูแลเมืองต่าง ๆ ทางใต้ลงมา เช่น พัทลุง ตรัง ไทรบุรี เมื่อเมืองใดมีท่าทีแข็งข้อก็ต้องรายงานและยกกองกำลังไปปราบตามที่ได้รับคำสั่งจากเมืองหลวง ฝ่ายพระยาพิชัยสงครามได้รับคำสั่งให้นำกองกำลังไปทำศึก ในครั้งนั้นได้มาตั้งค่ายพักและฉลองชัยชนะกันในบริเวณนี้ เนื่องด้วยเป็นทำเลที่มีน้ำท่าและอาหารสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อถ้ำและวังน้ำนี้รวมกันว่า “ถ้ำวังพระยาพิชัยสงคราม”
ชื่อพระยาพิชัยสงครามปรากฏในพงศาวดารเมืองสงขลาความว่า เมื่อ พ.ศ. 2361 พระยาถลางมีใบบอกไปยังกรุงเทพฯ ว่าพม่ากำลังต่อเรือที่เมืองมะริดและตะนาวศรีแต่ไม่ทราบว่าจะไปตีเมืองใด ทางกรุงเทพฯ จึงสั่งให้ “…พระยาศรสำแดงคุมไพร่ 200 คน ยกออกมาตั้งที่เมืองสงขลา ให้พระยาพิไชยสงครามคุมไพร่ 200 คนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองพัทลุง…” ทั้งยังมีเอกสาร “ชาร์แอร์ สุลต่านเมาลานา” บทกวีของมลายู บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับศึกถลาง พ.ศ. 2352 ว่าพระยาพิชัยสงครามได้รับมอบหมายจากเจ้าพระยายมราชให้เป็นผู้คุมกองกำลังฝ่ายไทยไปช่วยการศึก ทำให้คาดหมายกันว่าชื่อถ้ำคงได้มาจากเหตุการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งข้างต้น
สภาพพื้นที่รอบถ้ำเป็นที่ราบสูง ล้อมรอบด้วยภูเขา มีลำธารไหลผ่านชะง่อนหิน ด้านบนเพดานถ้ำมีช่องทะลุผ่าน มองเห็นหมู่ไม้เรียงราย ภายในถ้ำจะเป็นโถงใหญ่มีน้ำล้อมรอบ มีสะพานเชื่อมจากภายนอกเข้าถึงในถ้ำได้สะดวก ส่วนบริเวณภายนอกจะเป็นแอ่งน้ำสามารถลงเล่นน้ำและพายเรือได้
การบริการ มีองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวเป็นผู้กำกับดูแล มีสถานที่จอดรถและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มีบริการเรือพายและห่วงยางสำหรับลงเล่นน้ำ มีร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำ และบริเวณสำหรับนั่งพักผ่อน หากต้องการพักค้างคืนก็มีบริการที่พักแบบโฮมสเตย์ ผู้สนใจติดต่อ โทร. 0 7752 0148