ที่ตั้ง
หมู่ที่ 4 บ้านป่าหมาก ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง
การเดินทาง จากตัวเมืองตรังที่ทับเที่ยง ไปตามถนนสายห้วยยอด ออกนอกเมืองไปเล็กน้อย มีเส้นทางเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสาย 4002 ผ่านสี่แยกที่ตัดกับสาย 419 เข้าสู่ถนนสาย 3002 เมื่อถึงวัดไพรสณฑ์ มีทางแยกขวามือเข้าสู่พื้นที่เขาสามบาตร
ประวัติและความสำคัญ
พ.ศ. 2445 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จตรวจราชการแหลมมลายู หลังจากเสด็จทะเลสองห้องและถ้ำต่าง ๆ ขากลับเสด็จล่องแม่น้ำ และเสด็จยังถ้ำเขาสามบาตรเพื่อทอดพระเนตรจารึกตามที่ทรงทราบจากชาวบ้าน
พระองค์ทรงคัดลอกจารึกและอธิบายไว้ว่า เป็นอักษรสมัยอยุธยาลักษณะเดียวกับที่วัดป่าโมกซึ่งมีใจความดังนี้
“ กำไวเมื่อพระบาดพระเจ้าพระเพดพระศรีค่งพระพรมพระพุทรักษาแลเจาเน่นทั้งหลายมาเลิกสาดสนาพระเจาในเขาสะบาปและพระเจานันธรรมาณรายมา…แลวแลพระบาดเจ้ามาเปนพระ…แก…ขุนนางกรมการทัง…เมืองแลสัปรุศชายญ…ให้เลิกสาศนาพระพุท่เจากํบริบูนแล้วแลสัปรุศ…ชวนกันฉลองกุสลบุญแลเพื่อวาจะปราถนาพํนจากทุก…หาสู่กกุราชได้สองพันร้อยหาสิบเจดปีเจดวันนันแล…สุกกุราชได…ปีเมื่อญกพระเจ้าวันสุกเดือนเจดขึ้นสองค่า…นักสัตรฉสกบอกไว้ให้เปน… สิน…แลผู้จํ…นาไปเมือหน้า”
สรุปความว่า ใน พ.ศ. 2157 ตรังมีชุมชนใหญ่ระดับเมืองตรงบริเวณเขาสะบาป หรือที่เรียกกันว่าเขาสามบาตรในปัจจุบัน ทั้งมีขุนนางและกรมการเมืองพรั่งพร้อม มาเลิกศาสนา คือปฏิสังขรณ์วัด ซึ่งแสดงว่ามีวัดมาก่อนแล้ว และแน่นอนว่าต้องมีชุมชนที่มั่นคงมานานพอสมควร บริเวณที่ตั้งเมืองน่าจะอยู่ไม่ไกลจากเขาสามบาตร นอกจากนี้ภายในถ้ำยังเป็นที่พบภาชนะดินเผา เศษภาชนะดินเผา โบราณวัตถุที่ทำจากดินเผามีลักษณะคล้ายจักรหินและเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงถึงร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะเป็นที่ตั้งเมืองตามจารึก
ปัจจุบันเทศบาลตำบลนาตาล่วงเป็นผู้ดูแลพื้นที่เขาสามบาตร มีการตกแต่งภูมิทัศน์และก่อสร้างอาคารบริการ เพื่อการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของเมืองตรัง