ประเพณีลากพระหรือชักพระของเมืองตรังมีถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกจัดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 อีกครั้งหนึ่ง ในวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 นิยมจัดกันตามชุมชนตรังนา บริเวณท้องทุ่งกว้าง ๆ ใกล้วัด ชุมชนที่จัดกิจกรรมลากพระในสมัยก่อน ได้แก่ แถบวัดพระงาม ควนขัน ทุ่งหินผุด ในเขตอำเภอเมืองตรัง เป็นแหล่งรวมกิจกรรมจากวัดที่รายรอบ เช่น วัดควนขัน วัดจอมไตร วัดโคกยางหรือโคกพิกุล วัดคลองน้ำเจ็ด วัดกะพัง วัดโคกหล่อ ฯลฯ มีการตกแต่งเรือพระให้สวยงาม แล้วชักลากออกจากหมู่บ้านหรือวัดตั้งแต่ช่วงสาย ๆ มาชุมนุมกันในท้องทุ่ง พอเข้าวัดทำบุญกันเรียบร้อยแล้ว ในช่วงบ่ายก็เล่นจับคู่วัดเป็นคู่ ๆ แย่งพระกัน วัดที่ชนะจะได้พระไป ซึ่งจะต้องมีการไถ่พระกลับคืนมาตามแต่จะตั้งกติกากัน พอถึงปีก็จัดเรือพระลากพระมาชุมนุมแย่งพระกันใหม่
กิจกรรมที่ควบคู่ไปกับประเพณีชักพระคือการ แทงต้ม ก่อนถึงวันชักพระชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวมาแช่ ผัดกะทิ แล้วห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยม ต้มในกระทะ สุกแล้วนำมาผูกรวมเป็นพวง พวงละ 3-5 ลูก ใช้ประดับเรือพระ ทำบุญถวายพระพร้อมกับการถวายภัตตาหารเพล และเป็นอาหารระหว่างการละเล่น
ชุมชนที่ยังคงสืบทอดประเพณีชักพระเดือน 5 มาทุกปีคือชุมชนควนขัน ก่อนวันลากพระ ชาวบ้านทำต้มและร่วมกันตกแต่งเรือพระ พอถึงวันชักพระตอนเช้าก็เข้าวัดทำบุญ พอถึงตอนบ่ายก็พร้อมใจกันชักลากเรือพระเข้าวัดกันเป็นที่สนุกสนาน แต่ไม่มีกลุ่มอื่น ๆ มาร่วมวงแย่งพระกันเหมือนสมัยก่อน
การลากพระในช่วงออกพรรษา ปฏิบัติตามความเล่ากันว่า ในวันดังกล่าว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับโลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ พุทธศาสนิกชนจึงได้นำเอาพระพุทธรูปมาแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์ สืบมาเป็นประเพณีลากพระ เหมือน ๆ กับท้องถิ่นอื่นในภาคใต้
ประเพณีลากพระของจังหวัดตรังแต่เดิมบางกลุ่มจัดลากพระทางน้ำ สายแม่น้ำตรัง ชุมนุมกันที่ท่าหัวไทร ตำบลควนธานี มีเรือพระมาจากด้านเหนือ และด้านใต้ ทางด้านเหนือเริ่มต้นที่วัดประสิทธิชัย (ท่าจีน) ส่วนด้านใต้ เช่น โคกยาง คลองลุ ย่านซื่อ ก็ลากพระทวนน้ำขึ้นมา สายแม่น้ำปะเหลียนเดิมมีแหล่งชุมนุมเรือพระที่บ้านปากปรน อำเภอหาดสำราญปัจจุบัน บางปีไปรวมกันที่บ้านหินคอกควาย มีเรือพระจากหมู่บ้านและวัดต่าง ๆ เช่น บ้านหินคอกควาย ตำบลบ้านนา ตำบลท่าพญา จากฝั่งบ้านแหลม อำเภอกันตัง และที่อื่น ๆ ในงานลากพระแต่เดิมจะมีกิจกรรมแข่งขันเรือพาย เรือแจว เรือกรรเชียง และมีการแย่งพระกันด้วย
การชักพระทางน้ำปัจจุบันยังมีอยู่ที่บ้านปากปรน ตำบลหาดสำราญ ซึ่งจัดในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ไม่ได้จัดในวันแรม 1 ค่ำเหมือนที่อื่น เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยังเหมาะกับการทำประมงอยู่ เมื่อถึงวันพิธี ชาวบ้านจะจัดข้าวปลาอาหารลงเรือที่ตกแต่งอย่าสวยงาม ชักลากไปตามลำคลอง จนออกไปถึงกลางทะเลเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ แล้วไปต่อจนถึงหน้าเกาะลิบง ขึ้นบกจัดกิจกรรมที่แหลมจุโหย ก่อนลากเรือกลับหมู่บ้าน
0
0
votes
Article Rating
Login
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments