
ท้าวเทพกระษัตรีเดิมชื่อจันเกิดเมื่อ พ.ศ. 2278 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นบุตรคนหัวปีของพระยาถลางจอมร้าง เกิดที่บ้านตะเคียน มีน้องร่วมบิดามารดา 4 คน น้องหญิงชื่อมุกและชื่อหม่า น้องชายชื่ออาดและชื่อเรือง
พ.ศ. 2297 คุณจันได้แต่งงานกับหม่อมศรีภักดี บุตรของจอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่ง ซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราช หม่อมศรีภักดีมาอยู่ที่เมืองถลางได้ช่วยราชการจอมร้าง เนื่องจากบุตรชายจอมร้างอายุยังน้อยทั้ง 2 คน ยังไม่สามารถช่วยงานบ้านเมืองได้ หม่อมศรีภักดีมีบุตรกับคุณจัน 2 คน คนแรกเป็นหญิงชื่อปราง คนที่สองเป็นชายชื่อเทียน หม่อมศรีภักดีถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2302 คุณจันจึงตกพุ่มหม้าย
ต่อมาคุณจันได้แต่งงานกับพระยาพิมลขันซึ่งเข้ามาช่วยราชการอยู่ ณ เมืองถลาง แต่ยังไม่ทันจะมีบุตรด้วยกัน พระยาถลางจอมร้างถึงแก่อนิจกรรมลง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องมรดกเมืองถลางระหว่างพระยาพิมลขันบุตรเขยกับนายอาดบุตรชายของพระยาถลางจอมร้าง นายอาดนำเรื่องพิพาทไปฟ้องเจ้านครศรีธรรมราช เจ้านครฯ ตัดสินยกเมืองถลางให้แก่่นายอาดผู้สืบสกุลของพระยาถลางจอมร้าง ส่วนพระยาพิมลขันนั้นให้ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุง เพื่อเป็นกำลังสำคัญของเมืองนครศรีฯ ซึ่งขณะนั้นได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นในภาคใต้แล้ว เนื่องจากเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสื่อมอำนาจลงจนไม่สามารถป้องกันภาคใต้ได้อีกต่อไป
คุณจันยังคงมีบทบาทสำคัญในเมืองถลาง ทำการค้าแร่ดีบุกและมีข้าทาสบริวารจำนวนมาก ครั้นเมื่อสยามเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า มีแขกเมืองไทรบุรีกลุ่มหนึ่งคิดกำเริบฆ่าพระยาถลางอาด แล้วเข้ายึดเมืองถลาง แต่ชาวเมืองถลางได้รวมกำลังต่อสู้จนขับไล่พวกแขกหนีไปหมด การต่อสู้คราวนี้มีพระยายกกระบัตรชูเป็นผู้นำออกหน้า โดยคุณจันเป็นกำลังสนับสนุนที่สำคัญ
พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบนครศรีธรรมราชลงได้ พระยาพิมลขันซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าเมืองพัทลุง หนีไปกับเจ้านครศรีธรรมราช ทั้งสองถูกจับได้ จึงถูกส่งตัวไปยังกรุงธนบุรีด้วยกัน แล้วได้ทำราชการต่อมา โดยที่ไม่ถูกลงโทษแต่อย่างใด
ระหว่าง พ.ศ. 2314 – 2315 กัปตัน “ฟรานซิส ไล้ท์” พ่อค้าชาวอังกฤษ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ให้ตั้งสำนักงานซื้อแร่ดีบุกแบบผูกขาดขึ้นที่บ้านท่าเรือ เมืองถลาง และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาราชกปิตัน จากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ โปรดให้ พระยาพิมลขันออกมากำกับดูแลค้าแร่ดีบุกกับชาวต่างประเทศ เนื่องจากเคยอยู่เมืองถลาง เข้าใจการค้าแร่ดีบุก เป็นอย่างดี พระยาพิมลขันจึงได้กลับมาเมืองถลาง ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองถลางใน พ.ศ. 2319 เข้าใจว่าการเรียกชื่อเป็นคุณหญิงคงเริ่มต้นในช่วงนี้ตามบรรดาศักดิ์ของสามีซึ่งเป็นพระยาตำแหน่งเจ้าเมือง คุณหญิงจันมีบุตรกับพระยาพิมลขัน 5 คน หญิงชื่อทอง ชายชื่อจุ้ย กับชื่อเนียม และบุตรหญิงอีก 2 คน ชื่อกิ่ม กับชื่อเมือง
ฝ่ายคุณหญิงจันที่ประกอบการค้าแร่ดีบุกมีคุณเทียนบุตรชายเป็นกำลังสำคัญ คุณเทียนได้ค้นพบแหล่งแร่ขนาดใหญ่มากในพื้นที่บ้านสะปำซึ่งอยู่ในเขตเมืองภูเก็ต ถือเป็นความดีความชอบใหญ่หลวงเพราะการทำแร่สร้างรายได้มหาศาลแก่แผ่นดินช่วยฟื้นฟูความบอบช้ำจากสงคราม คุณเทียนจึงได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองภูเก็ตซึ่งขึ้นกับเมืองถลาง
พ.ศ. 2328 มีจดหมายออกนาม “ท่านผู้หญิงจัน” ถึงพระยาราชกปิตัน ว่าพระยาถลางป่วย และได้ข่าวพม่าจะมาตีถลาง จึงขอผัดผ่อนหนี้สินและกรุยทางที่จะพึ่งพากัปตันไลท์หากเกิดสงคราม แสดงว่าก่อนเกิดศึกถลางเรียกขานกันว่าท่านผู้หญิงอยู่แล้ว และพระยาถลางที่ป่วยก็คือพระยาพิมลขัน ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมหลังจดหมายดังกล่าวไม่นานนัก ส่วนจดหมายฉบับหลังถึงพระยาราชกปิตันใน พ.ศ. 2329 เล่าความเรื่องศึกพม่าว่า “อนึ่งเมื่อพม่ายกมานั้น พระยาธรรมไตรโลกให้เกาะเอาตัวตูข้าลงไปไว้ที่ปากพระ ครั้นพม่ายกมาตีปากพระได้ กลับแล่นขึ้นมา ณ บ้าน แลคนซึ่งให้รักษาบ้านเรือนอยู่นั้นแล่นทุ่มบ้านเรือนเสีย ข้าวของทั้งปวงเป็นอันตราย มีคนเก็บริบเอาไปสิ้น…” ท่านผู้หญิงจันจะถูกเอาตัวไปปากพระด้วยเหตุใดก็ตาม แต่เมื่อกลับมาเห็นสภาพบ้านเมืองยามสงคราม ทั้งเจ้าเมืองก็ยังไม่มี ฝ่ายพม่าก็ตั้งค่ายล้อมเมืองถลางอยู่หลายค่าย จึงคิดอ่านกับน้องสาวและกรมการทั้งปวงซึ่งมีพระยาทุกรราชทองพูนรวมอยู่ด้วย รวบรวมผู้คนหญิงชายตั้งค่ายป้องกันเมือง ระดมยิงปืนต่อสู้กับพม่าทุกวัน สู้รบกันอยู่เดือนเศษในที่สุดพม่าก็แตกพ่ายไป
เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งท่านผู้หญิงจันเป็น “ท้าวเทพกษัตรี” และคุณมุกน้องสาวเป็น “ท้าวศรีสุนทร” ตั้งพระยาทุกรราชทองพูนเป็นเจ้าเมืองถลางคนใหม่ และตั้งคุณเทียนเป็น “พระยาทุกรราช” แทน คุณเทียนผู้นี้ได้เป็นเจ้าเมืองถลางในเวลาต่อม
วีรกรรมที่แสดงถึงความกล้าหาญของท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรเป็นที่เล่าขานต่อ ๆ กันมาจนถึงชาวภูเก็ตในปัจจุบัน จึงได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่สี่แยกท่าเรือ อำเภอถลาง โดยทำพิธียกอนุสาวรีย์ขึ้นประดิษฐานบนแท่นในวันที่ 24 มีนาคม 2510 ซึ่งตรงกับวันถลางชนะศึกเมื่อ พ.ศ. 2328 ต่อมมาได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2510