
ที่ตั้ง
หัวมุมถนนดำรงตัดกับถนนสุรินทร์ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง
ละติจูด 7° 53′ 24″ เหนือ ลองจิจูด 98° 24′ 00″ ตะวันออก
จากเส้นทางเข้าเมืองตามถนนเทพกษัตรี เมื่อถึงสี่แยก “โรงเรียนสตรีภูเก็ต” ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนดำรง ผ่านสามแยกไปจนเห็นศาลจังหวัดภูเก็ตทางซ้ายมือ ต่อจากนั้นไปประมาณ 400 เมตร ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตตั้งอยู่ทางขวามือ

ประวัติและความสำคัญ
ในสมัยที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้๊) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต พระยารัษฎาฯ ได้ให้บริษัทต่างชาติมาขุดแร่ดีบุกในเขตประทานบัตรแปลงข้างหน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขภูเก็ต ซึ่งบริเวณนั้นเดิมเป็นที่ทำการของรัฐบาล โดยให้บริษัทเหล่านั้นสร้างศาลากลางแลกเปลี่ยนกับประทานบัตรขุดแร่ดีบุก ซึ่งทางบริษัทได้ให้ช่างชาวอิตาเลี่ยนเป็นผู้สร้าง หลังพระยารัษฎาฯ ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2456 การก่อสร้างก็ดำเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ ในช่วงเวลานั้นตรงกับวาระที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ ประพาสมณฑลปักษ์ใต้ จึงได้ทรงทำพิธีเปิดในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2460

ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น มีระเบียงเดินได้โดยรอบทั้ง 2 ชั้น ราวระเบียงทั้งชั้นล่างและชั้นบนเป็นลูกกรงปูนโปร่งลายคล้ายดอกไม้ ระหว่างช่องเสาด้านบนของชั้นล่างทุกช่องติดแผงไม้ฉลุเป็นส่วนกันแดด ตรงช่องลมมีลวดลาย 2 ประเภท ฉลุบนไม้สัก 2 ขนาด ลวดลายบนไม้คล้ายดอกทิวลิบ เหนือขึ้นไปเป็นไม้สักขนาดใหญ่ฉลุลวดลายเป็นรูปดอกไม้ที่อยู่ในแจกัน ซึ่งเป็นรูปแบบได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป
ปัจจุบันยังใช้เป็นศาลากลางจังหวัด
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 27 เมษายน 2520
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 94 ตอนที่ 39 วันที่ 10 พฤษภาคม 2520