ที่ตั้ง
ถนนมนตรี ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต
ละติจูดที่ 7° 52′ 48″ เหนือ ลองจิจูดที่ 98° 24′ 00″ ตะวันออก
จากเส้นทางเข้าเมืองตามถนนเทพกษัตรี ถึงสี่แยกโรงเรียนสตรีภูเก็ต ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนดำรง ตรงไปจนถึงสามแยก ให้เลี้ยวขวา แล้วตรงไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขอยู่ทางขวามือ
ประวิติและความสำคัญ
เดิมบริเวณนี้มีกลุ่มอาคารซึ่งเป็นที่อยู่และว่าราชการของพระยาวิชิตสงคราม (ทัต) ใช้ต่อมาจนถึงสมัย พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ลำดวน) บุตรชาย ซึ่งภายหลังถูกปลดออกจากราชการ แล้วทางการก็ใช้สถานที่บริเวณนี้เป็นที่ทำการของรัฐบาล ประกอบด้วยตึก 3 ชั้น ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรือนพักของพระอนุรักษ์โยธา (นุด) ข้าหลวงรักษาราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตก พ.ศ. 2431 – 2433 มีบ้านเก่าของพระยาวิชิตสงครามเป็นตึกใหญ่ 2 ชั้น ส่วนตึกเล็ก 2 ชั้น เป็นบ้านของพระภูเก็ตฯ (ลำดวน) ทั้งยังมีอาคารที่ทำการอื่น ๆ อีกหลายหลัง ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเดิมอยู่ที่ตึกเล็ก ครั้นถึงสมัยพระยารัษฎาฯ ได้เปิดพื้นที่ให้ประทานบัตรขุดแร่ดีบุก แล้วย้ายที่ทำการของรัฐบาลไปที่อื่น จนถึง พ.ศ. 2473 จึงได้สร้างอาคารไปรษณีย์โทรเลขหลังนี้ขึ้นใหม่
ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทาสีขาว หลังคาทรงปั้นหยาปูด้วยกระเบื้องลูกฟูกลอนเล็กสีแดง ด้านหน้าเป็นบันไดทางขึ้น 5 ขั้น มีเสาสี่เหลี่ยมเซาะร่องห่าง ๆ ราวลูกกรงปูนเรียวยาว หน้าต่างแบบเปิดบานคู่ เหนือบานเปิดเป็นช่องแสงติดไม้ตารางสี่เหลี่ยมกรุกระจกใส นับเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอีกแห่งหนึ่ง
อาคารหลังนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์โทรเลข ใน พ.ศ. 2537 ให้บริการโดยไม่เก็บค่าเข้าชม
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 28 เมษายน 2541
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 7 ง วันที่ 22 มกราคม 2542