ที่ตั้ง
เลขที่ 28 ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต
ละติจูด 7° 52′ 48″ เหนือ ลองจิจูด 98° 23′ 24″ ตะวันออก
จากเส้นทางเข้าเมืองตามถนนเทพกษัตรี ถึงสี่แยกโรงเรียนสตรีภูเก็ต ตรงไปผ่านสี่แยกถนนดีบุกไปจนถึง สี่แยกถนนถลาง เลี้ยวขวาเข้าถนนถลาง ผ่านสี่แยกถนนเยาวราชเข้าสู่ถนนกระบี่ ตรงไปอีกเล็กน้อย พิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ
ประวิติและความสำคัญ
การเรียนการสอนภาษาจีนในภูเก็ตเริ่มเป็นระบบขึ้นเมื่อมีชาวจีนจากปีนังมาเปิดสอนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2453 ต่อมาพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต พ.ศ. 2456 – 2463 ได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงธรรมการเพื่อขอรับอุปการะโรงเรียนจีน จนได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นโรงเรียนจีนแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ต ชื่อโรงเรียนภูเก็ตฮั่วบุ๋น จากนั้นมีคหบดีในจังหวัดภูเก็ตรวบรวมเงินสร้างอาคารขึ้นหลังหนึ่งเพื่อใช้เป็นอาคารเรียน เปิดใช้งานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2477
ในช่วงต่อมาโรงเรียนถูกปิดด้วยเหตุผลทางการเมืองถึงสองครั้ง เนื่องจากทางรัฐบาลไทยในยุคนั้นเกรงว่าโรงเรียนจีนจะเป็นแหล่งเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ จนถึง พ.ศ. 2491 โรงเรียนเปิดขึ้นขึ้นอีกครั้งหนึ่งในสถานที่เดิม แต่ใช้ชื่อว่า โรงเรียนภูเก็ตไทหัว กิจการโรงเรียนรุ่งเรืองขึ้น จึงมีการจัดตั้งโรงเรียนใหม่ขึ้นอีก คือโรงเรียนประศาสน์วิทยา เป็นระดับมัธยมเพื่อรองรับนักเรียนชั้น ป.4 จากภูเก็ตไทหัว
พ.ศ. 2507 โรงเรียนประสาศน์วิทยาย้ายมาตั้งที่ถนนวิชิตสงคราม พ.ศ. 2538 โรงเรียนภูเก็ตไทยหัวได้ย้ายมาอยู่ในบริเวณเดียวกัน จนถึง พ.ศ. 2542 โรงเรียนทั้งสองได้รวมเข้าด้วยกันชื่อว่า โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว (ประศาสน์วิทยา) ส่วนอาคารโรงเรียนภูเก็ตไทยหัวเดิมก็ได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว เมื่อ พ.ศ. 2548
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2544
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 119 ง วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2545