สาคู เป็นพืชตระกูลปาล์มในสกุล Metroxylon เป็นพืชในเขตร้อนพบมากในภาคใต้ของประเทศไทย ขึ้นเองตามธรรมชาติชอบดินชุ่มน้ำ ลักษณะเป็นลำต้นสูงตรง มีใบเป็นทางยาวเหมือนต้นมะพร้าว สาคูสามารถสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้ให้แก่ชุมชนได้ทั้งต้นเลยทีเดียว ใบเอาไปเย็บจากมุงหลังคา ห่อขนม ทางสาคูทำที่กั้นเป็นคอกสัตว์หรือรั้วขอบเขตหรือเขตแดนระหว่างบ้านแบบง่าย ๆ ตามวิถีชีวิตคนชนบท ผิวของทางสาคูลอกออกมาทำเครื่องจักสานสำหรับปูนอน หรือใช้เป็นเอนกประสงค์อย่างอื่นได้อีกมากมาย ซึ่งผู้ที่จะตัดต้นสาคูมาใช้ประโยชน์ได้ดีนั้นจะต้องศึกษาและเรียนรู้และเข้าใจในธรรมชาติสาคูอย่างชำนาญ มิฉะนั้นจะเท่ากับเป็นการทำลายป่าสาคูไปโดยไม่รู้ตัว
ส่วนที่สำคัญที่สุดที่นำมาทำเป็นอาหารสำหรับคนและสำหรับเลี้ยงสัตว์ได้นั้นคือตรงลำต้นที่มีเปลือกหุ้มหนานั่นเอง ตรงลำต้นสาคูจะมีเส้นใยเป็นแป้งจำนวนมาก ซึ่งลำต้นจะเริ่มสะสมแป้งได้เมื่อต้นสาคูมีอายุประมาณ 4 – 5 ปี เมื่อโตเต็มที่อายุประมาณ 8 – 10 ปี ยอดจะออกดอกคล้ายกับเขากวาง “แตกเขากวาง” หลังออกดอกแล้วสาคูก็จะตายธรรมชาติไปเอง ผู้ที่ประกอบอาชีพทำแป้งสาคูจะต้องรู้จักสังเกตุและเลือกเอาต้นสาคูต้นไหนไปทำแป้งสาคูได้อย่างเหมาะสม ให้ผลผลิตที่ดีและปริมาณแป้งมาก ก่อนที่ผู้เขียนจะเล่าถึงกระบวนการแปรรูปแป้งสาคู ขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับ “เขากวาง” ของต้นสาคูสักเล็กน้อยเพราะถ้าไม่เล่าก็รู้สึกเสียดายมาก
ผู้เขียนพยายามเสาะหาพื้นที่ที่เป็นป่าสาคูในเขตอำเภอเมือง เพื่อสะดวกในการเดินทางไปเก็บภาพของต้นสาคู และอยากเห็นต้นที่แก่แล้วมีเขากวางจริง ๆ ว่ามีลักษณะเป็นเหมือนกับเขากวางจริงหรือเปล่าหรือเป็นการเรียกแบบสมมุติขึ้นมา จากการบอกเล่าของชาวบ้านทราบว่าบริเวณหลังวัดควนนาแค ซึ่งอยู่ในเขตตำบลโคกหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง จะมีป่าสาคูที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและเป็นแหล่งแปรรูปเป็นแป้งสาคู จึงลงพื้นที่ไปเก็บภาพต้นสาคู และได้เห็นต้นแก่ที่ยืนต้นตายธรรมชาติแล้ว ต้นแก่ที่มีเขากวางแต่ยังไม่ตาย และต้นที่กำลังแตกเขากวาง ซึ่งลักษณะที่เห็นเขากวางนั้นช่างเหมือนกับเขาของกวางจริง ๆ คือ ปลายสุดของลำต้นมีกิ่งแตกแขนงชี้ขึ้นบนและแตกกิ่งก้านมากมายหลายกิ่ง ซึ่งไม่มีทางใบเลยขอให้ผู้อ่านพิจารณาเอาเองได้ว่าเหมือนกับเขากวางหรือไม่เพียงใด
กระบวนการแปรรูปแป้งสาคู
1. เลือกต้นสาคู ซึ่งจะให้ได้แป้งสาคูที่มีคุณภาพจะต้องคัดเลือกต้นสาคูที่มีอายุประมาณ 15 ปี โดยใช้วิธีการสังเกตว่าจะมีเขากวางยื่นออกมาให้เห็นที่ยอดของต้น เริ่มตัดต้นให้ต่ำสุดถึงโคนต้น
2. ตัดแบ่งลำต้นออกเป็นท่อนให้สะดวกต่อการแบกหามออกมาจากป่าสาคู
3. ใช้มีดปอกเปลือกที่ลำต้นออกให้เห็นเนื้อแป้งพอประมาณไม่ต้องออกมาก แล้วผ่าแบ่งออกเป็นสี่เสี้ยว
4. ใช้เล็บแมวขูดหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถขูดเอาเนื้อในที่เป็นแป้งออกมาเพื่อย่อยให้เป็นชิ้นเล็กอย่างละเอียด บางพื้นที่ใช้เครื่องทุ่นแรงประเภทใบมีดตัดหรือใช้เครื่องตัดหญ้าเหวี่ยงที่เส้นใยเหมือลักษณะการตัดหญ้าเพื่อให้ขั้นตอนของการขูดเอาเส้นที่เป็นแป้งออกมาให้ได้เร็วที่สุด
5. นำส่วนที่ขูดได้ทั้งหมดมาละลายในน้ำ
6. คั้นเอาน้ำแป้ง คล้ายกับการขั้นกะทิ เอาส่วนที่เป็นกากทิ้งไป
7. นำส่วนที่คั้นได้มากรองด้วยผ้าขาวบางอีกครั้ง ก็จะได้เนื้อแป้งสาคูที่มีสีน้ำตาลเนื้อนวลเนียนที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน
8. ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนอีก 1 คืน ในระหว่างนี้ต้องเปลี่ยนน้ำ 1 – 2 น้ำ เพื่อเอาน้ำในเนื้อแป้งที่มีรสชาติฝาดออก หากไม่เปลี่ยนน้ำก็อาจจะทำให้แป้งที่ได้มีรสชาติเปรี้ยวด้วย
9. เอาน้ำส่วนบนเททิ้งให้หมดเหลือไว้คงแต่แป้งที่ตกตะกอนเท่านั้น
10. นำแป้งมาห่อด้วยผ้าขาวบางเพื่อทิ้งให้สะเด็ดน้ำ
11. นำเนื้อแป้งมาคลึงด้วยไม้นวดแป้งให้ละเอียดและใช้กระด้งร่อนแป้งให้เป็นเม็ดกลม ๆ
12. นำแป้งที่ได้มาตากแดดบนเสื่อกระจูดซึ่งเป็นเสื่อที่ดูดความชื้นได้ดีและทำให้แป้งแห้งได้เร็วยิ่งขึ้น หรืออาจจะใช้วัสดุอื่น ๆ ที่เป็นผืนใหญ่ก็ได้ ขั้นตอนในการตากแดดนี้จะใช้เวลาตากประมาณ 2 วัน หรือ 2 แดด
13. นำแป้งที่แห้งดีแล้วมาบรรจุใส่ถุงหรือภาชนะอื่น ๆ เก็บไว้ห่างจากความชื้นซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานเป็นปี
อาหารที่ทำจากแป้งสาคู มีมากมายหลายชนิด ได้แก่ ขนมสาคู บัวลอยสาคู สาคูเปียก สาคูไส้หมู ขนมหยกมณี โจ๊กสาคู ข้าวเกรียบสาคู ฯลฯ
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………
ถ่ายภาพโดย : พิชญ์สินี บัณฑิตเสวนากุล
แหล่งอ้างอิง : นพรัตน์ บำรุงรักษ์. พืชหลักปักษ์ใต้. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ ฯ บริษัทต้นอ้อ จำกัด, 2536.