, , ,

          ครูนาฎลดา  เดชอรัญ  หรือ ครูเดือนของเด็ก ๆ โรงเรียนบ้านเกาะมุกด์  จบการศึกษาสาขาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี   ด้วยใจรักในงานการสอนศิลปะและเทคนิคการสอนที่ถ่ายทอดให้ลูกศิษย์เรียนรู้ เข้าใจได้ง่าย รวดเร็วและสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้เพื่อการต่อยอดกับชีวิตจริงได้อย่างจริงจัง ครูเดือนจึงมีผลงานที่ถ่ายทอดออกมาให้สังคมได้เห็นและได้เรียนรู้ร่วมกันทางสื่อออนไลน์ ได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรสอนงานศิลปะด้านการวาด ตัด พับ ปั้น ระบายสี ฯลฯ  และร่วมจัดแสดงผลงานเพื่อการประชาสัมพันธ์ในกิจกรรมของจังหวัดตรังในโอกาสสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการสอนงานผ้าบาติกซึ่งเป็นหนึ่งของงานหัตกรรมบนผืนผ้าที่สื่อถึงอัตลักษณ์ความเป็นปักษ์ใต้ และเปลี่ยนผืนผ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้อย่างไม่ยากเลย

          ครูเดือนอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับผ้าบาติกว่า ผ้าบาติกหรือผ้าปาเต๊ะ เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี  และใช้วิธีการแต้มระบายในส่วนที่ต้องการให้ติดสี คำว่า “บาติก {Batik}” หรือปาเต๊ะ เดิมเป็นคำในภาษาชวาใช้เรียกผ้าที่มีลวดลายที่เป็นจุด คำว่า “ติก” มีความหมายว่า เล็กน้อย หรือจุดเล็กๆ มีความหมายเช่นเดียวกับ คำว่า  “ตริติก” หรือ“ตาริติก” ดังนั้นคำว่า “บาติก” จึงมีความหมายว่าเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นจุด ๆ วิธีการทำผ้าบาติกในสมัยดั้งเดิมใช้วิธีการเขียนด้วยเทียน
          แหล่งกำเนิดของผ้าบาติกหลายคนเชื่อว่ามีในอินเดียก่อน แล้วจึงแพร่หลายเข้าไปในอินโดนีเซียมีการค้นพบผ้าบาติกที่มีอายุเก่าแก่ในประเทศอื่น ทั้งอียิปต์ อินเดีย และญี่ปุ่นแต่บางคนก็ยังเชื่อว่า
ผ้าบาติกเป็นของดั้งเดิมของอินโดนีเซีย และยืนยันว่าศัพท์เฉพาะที่เรียกวิธีการและขั้นตอนในการทำผ้าบาติก เป็นศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย สีที่ใช้ย้อมก็มาจากพืชที่มีในอินโดนีเซีย

อุปกรณ์ในการทำผ้าบาติก
หากจะเรียนรู้เกี่ยวกับการทำผ้าบาติกก็จะต้องเตรียมวัสดุในการทำผ้าบากติกให้พร้อม โดยมีอุปกรณ์ในการทำดังนี้

1. ผ้า ควรเป็นเส้นใยจากธรรมชาติ ซึ่งขึ้นอยู่ความเหมาะสมกับงานที่จะใช้ เช่น เสื้อ ผ้าม่าน
    ภาพแขวน ปลอกหมอน หรือผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น

2. ขี้ผึ้งเทียนไข ผสมในอัตราส่วนที่ต้องการ เช่น ถ้าต้องการให้เทียนมีความเหนียวใช้อัตราส่วน
    ขี้ผึ้งต่อพาราฟิน 1: 2 แต่ถ้าต้องการให้เทียนเกิดรอยแตกง่าย
    ใช้อัตราส่วนขี้ผึ้งต่อพาราฟิน 1: 8

3. โซเดียมซิลิเกต (เคลือบสี)
4. สีที่ใช้แต้มหรือย้อม เช่น สีรีแอคทีฟ สีวัต
5. ชานติ้ง จันติ้ง เป็นอุปกรณ์เขียนลายเส้น ทำด้วยทองเหลือง ส่วนด้ามเป็นไม้
6. กรอบไม้
7. พู่กันระบายสี
8. กระปุก แก้ว ใส่สี
9. แปรงทาสี
10. หม้อต้มเทียน
11. หม้อต้มผ้า
12. ผงซักฟอก
13. ภาชนะสำหรับซักผ้า
14. เตาต้มเทียน ควรเป็นเตาไฟฟ้า หรืออาจใช้เตาแก๊สก็ได้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะ              เทียนนั้นติดไฟได้ง่าย

ขั้นตอนการทำงานบาติกลายเขียน

          ครูเดือนกล่าวว่ากว่าจะมาเป็นชิ้นงานที่สวยงาม  ที่ทุกคนได้ใช้ ได้ใส่นั้น มีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก แต่จะเน้นจินตนาการและอารมณ์ทางศิลปะจากลายเส้นของผู้เขียน ที่ถ่ายทอดออกมาด้วยสีสัน เส้นสาย   ลวดลายบาติก  ดังคำกล่าว ที่ว่า “One piece of the world”  ซึ่งมีการเตรียมและทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. การเตรียมภาพสเก็ตซ์
2. การเตรียมกรอบไม้และการขึงผ้าให้แน่นทีละด้าน
3. การร่างภาพให้ใช้ดินสอร่างลาย  หากเขียนลายไม่ได้ให้ใช้ลายวางไว้ด้านล่างของผ้าแล้วลอกลาย
4. การเขียนเทียน ใช้ปากกาเขียนเทียนหรือชานติ้งจุ่มน้ำเทียนที่ร้อนพอเหมาะ เขียนเทียนตาม
     เส้นที่ร่างไว้
5. การระบายสี  ใช้ภู่กันระบายสีส่วนต่าง ๆ ตามที่ต้องการให้เป็นมิติต่าง ๆ
6. การเคลือบน้ำยาโซเดียมซิเกต เพื่อให้สีทนนานโดยใช้แปรงจุ่มน้ำยาซิแกต ทาให้ทั่วผืนผ้า
    วางผึ่งลมไว้ให้แห้ง
7. การซัก นำผ้าที่ต้มแล้วไปซักด้วยน้ำธรรมดาเพื่อให้สะอาด

และเพิ่มเติมอีกว่าการทำผ้าบาติกเป็นวิธีการสร้างสรรค์ลวดลายให้กับผืนผ้ากรรมวิธีการทำผ้าบาติกไม่ซับซ้อนมากนักแต่ผู้ทำต้องมีความประณีตละเอียดพิถีพิถันทุกขั้นตอน จึงจะทำให้ผ้าบาติกดูมีความสวยงาม  ทั้งนี้ผู้ทำต้องอาศัยความขยันหมั่นฝึกฝนฝีมือบ่อย ๆ  เพื่อสร้างความชำนาญ  ผ้าที่ใช้ทำบาติกต้องไม่หนาจนเกินไปเพราะน้ำเทียนจะไม่สามารถซึมผ่านอีกด้านหนึ่งได้  ควรเขียนเทียนให้เส้นบรรจบปิดทุกลาย โดยไม่ให้มีช่องว่างระหว่างภาพแต่ละภาพ มิฉะนั้นเวลาลงสี ๆ จะซึมเลอะเข้าหากัน  เทียนที่ได้จากการผสมขี้ผึ้ง (Wax) และ พาราฟิน (Paraffin) ไม่ควรเกิน 1:12 เพราะจะทำให้เทียนใสเกินไป ไม่เกาะติดบนผ้า  ควรใช้โซเดียมซิลิเกต เพื่อให้สีผนึกเข้ากับผ้าได้ดี

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………

แหล่งอ้างอิง    

1. นางนาฎลดา เดชอรัญ ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านเกาะมุกด์ ตำบลเกาะลิบง  จังหวัดตรัง
2.
วัชรพงศ์ หงษ์สุวรรณ. ปฏิบัติการบาติก.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : วาดศิลป์, 2548.

, , ,
4.1 9 votes
Article Rating
guest
5 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments
Mook
Mook
3 years ago

ขอชื่นชมคุณครูเดือน แห่งโรงเรียนบ้านเกาะมุกด์เป็นอย่างยิ่ง

สำลี คงปาน
สำลี คงปาน
3 years ago

ชื่นชมค่ะ

Duanghathai
Duanghathai
3 years ago

มีประโยชน์และเป็นแหล่งความรู้ที่ดีมากๆเลยค่ะ 🥰🤍

Nana
Nana
3 years ago

สวยจังค่ะ

ณิชาวีย์
ณิชาวีย์
3 years ago

ขอชื่นชมคุณครูค่ะ ทำผลงานออกมาสวยมากๆค่ะ

5
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x