พริกไทย เป็นเครื่องเทศปรุงรสชนิดหนึ่ง ซึ่งให้กลิ่นหอมชวนกิน แหล่งกำเหนิดคือประเทศอินเดีย ปลูกกันแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย มีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น ช่วยขับเสมหะ แก้ปวดท้อง แก้อาเจียน ท้องเสีย ต่อต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ มีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาท แก้โรคลมชัก ช่วยเจริญอาหาร บรรเทาอาการนอนไม่หลับ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยขับปัสสาวะ เป็นต้น พริกไทยมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน เช่น พันธุ์ใบหนา พันธ์บ้านแก้ว พันธุ์ปรางถี่ธรรม พันธุ์ปรางถี่หยก พันธุ์ควายขวิด และสายพันธ์คุชชิ่ง
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง มีทั้งต้นตัวผู้และตัวเมีย ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อ ๆ มีรากฝอยออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะ ข้อโป่งนูน ใบเดี่ยวเรียงสลับใบรูปไข่ เนื้อใบแข็ง ดอกออกเป็นช่ออยู่ตามข้อในทิศตรงกันข้ามกับใบ ช่อดอกตัวเมียมีกลีบประดับ รูปร่างเกือบกลม ช่อดอกตัวผู้มีดอกที่เกสรตัวผู้ 2 อัน ผลอยู่รวมกันเป็นช่อยาว ผลรูปทรงกลมภายในมีเมล็ด 1 เมล็ดกลมเป็นสีขาวม่น ๆ จัดเรียงตัวแน่นอยู่แบแกนเป็นพวง ผลอ่อนสีเขียว เมื่อเริ่มสุกออกเหลืองแก่จัดก็จะเป็นสีแดงเข้ม
การปลูก
1. คัดเลือกต้นกล้าสายพันธุ์พื้นเมืองหรือสายพันธุ์ปะเหลียนจากต้นที่มีอายุประมาณ 6- 18 เดือน ที่มีลักษณะกลมสมบูรณ์ สีเขียวเข้มอมน้ำตาล
2. จัดเตรียมค้างด้วยไม้หรือเสาปูน เว้นระยะห่างกัน 2-3 เมตร
3. ขุดหลุมกว้าง 15×15 เซนติเมตร รองพื้นด้วยปุ๋ยคอก ลงปลูกค้างละ 2 ต้น
4. ใส่ปุ๋ยตามระยะเวลาและหมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอให้มีความพอเหมาะ หากปลูกช่วงฤดูฝนก็จะได้ผลดีไม่เสี่ยงต่อการแห้งตาย
5. หมั่นตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่มอยู่เสมอ
การเก็บเกี่ยว
1. เก็บพริกไทยอ่อน ทีละช่อเลือกที่มีสีเขียวอ่อนถ้าสีเข้มแสดงว่าพริกเริ่มแก่แล้ว
2. เก็บพริกไทยแก่ต้องเป็นสีแดงจัด
จังหวัดตรังเป็นแหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศไทยซึ่งเป็นพริกไทยสายพันธุ์พื้นเมืองแบบดั้งเดิมเลย จึงเรียกกันทั่วไปว่าพริกไทยตรัง (Phrikthai หรือ Trang Peper) สายพันธุ์พื้นเมือง (ปะเหลียน) ปลูกกันมากในอำเภอปะเหลียน ทุ่งยาว นาตาล่วงและทับเที่ยง พริกไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยมีรสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นหอม จึงเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดตรัง สามารถส่งออกจำหน่ายได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศถึงแถบประเทศยุโรป สร้างรายได้จากผลผลิตในการปลูกพริกให้แก่เกษตรกรได้ดีมาก กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรจึงหันมาปลูกกันอย่างจริงจัง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้เข้าส่งเสริมและสนับสนุนในการปลูกพร้อมกับการจัดหาตลาดจำหน่าย เพื่อให้มีตลาดรองรับกับผลผลิตพริกไทยที่เก็บเกี่ยวได้ตลอด จึงมั่นใจและลดความกังวลในเรื่องผลผลิตล้นตลาด กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนพริกไทยตรัง (Phrikthai หรือ Trang Peper) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อันเป็นสินค้าอัตลักษณ์ ของจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 (ตามเลขที่ประกาศ 176 เล่มที่ 58) และระบุประเภทสินค้าพริกไทยไว้มี 5 ประเภท ได้แก่ พริกไทยอ่อน พริกไทยดำแบบเม็ด พริกไทยขาวแบบเม็ด พริกไทยดำแบบป่น และพริกไทยขาวแบบป่น
ด้านประวัติศาสตร์จากหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุ ของในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง พบว่าราว ร.ศ. 116 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรผู้ปกครองเมือง ตรัง ซึ่งเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ทางด้านการเกษตรและเป็นผู้ที่มีนิสัยรักการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ได้รายงานสถานการณ์บ้านเมืองความเป็นอยู่ของประชาชนต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าพื้นที่ในตรังส่วนใหญ่มีการทำสวนพริกไทย และทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันไปไกลถึงเมืองปีนัง ไม่นิยมทำนาต้องซื้อข้าวกิน เมื่อราคาพริกไทยตกต่ำก็อาจจะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ จึงแนะนำประชาชนที่ทำสวนพริกไทย ว่าราคาพริกไทยนั้นดีตามที่ตลาดต้องการเมื่อราคาสูงคนก็จะปลูกกันมากวันหนึ่งราคาก็ตกลงมาได้ จะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ได้ หากต้นพริกไทยตายลงก็ไม่ควรปลูกตรงดินเดิมอีกเพราะเป็นดินเก่าที่ทำการเพาะปลูกมาแล้วหากปลูกลงไปอาจจะทำให้ได้ผลผลิตไม่ดีต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาพริกมากขึ้น อาจจะทำให้ขาดทุนมากกว่าเดิม ให้ปลูกจันทร์เทศ มะพร้าว และหมาก เสริมลงไปเพื่อเป็นรายได้เสริมจากการปลูกพริกไทย และหากปลูกพริกไทยให้ปลูกในที่ดินใหม่ และที่ดินว่างให้ทำนาปลูกข้าวจะได้ไม่ต้องซื้อข้าวกิน จากเอกสารจดหมายเหตุทำให้ได้เรียนรู้ในวิสัยทัศน์ของผู้บริหารบ้านเมืองในสมัยนั้น อันมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
ในปัจจุบันนี้ผู้บริโภคหรือนักค้าขายสามารถหาซื้อพริกไทยตรังได้ง่ายจากตลาดสดและสร้างความสะดวกในการติดต่อจากตลาดออนไลน์ หรือติดต่อทางเพจสวนพริกไทยตรัง พริกไทยพันธุ์ปะเหลียน หรือติดต่อทางเบอร์โทรศัพท์ เช่น 086 702 6514
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………
แหล่งอ้างอิง
1. แก้ว กาญจนา. สมุนไพรเพื่อการบำบัดโรค. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : เคพีเอ็ม มีเดียสยาม, 2547.
2. วิทิต วัณนาวิบูล. อาหารสมุนไพรในทัศนะจีน – ตะวันตก. กรุงเทพ ฯ : หมอชาวบ้าน,2534
3. เอกสารจดหมายเหตุ (ร.กส.53/27) “พระยาตรังจัดราชการบ้านเมืองต่าง ๆ”
4. ภาพถ่ายโดย : พิชญสินี บัณฑิตเสวนากุล