นางจิระนันท์ พิตรปรีชา ชื่อเล่นว่า “จี๊ด” เป็นชาวตรังแต่กำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ได้รับรางวัล “กวีซีไรต์” หรือ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (THE S.E.A. WRITE AWARD) ประจำปี 2532 จากกวีนิพนธ์เรื่องใบไม้ที่หายไป
เริ่มการศึกษาที่จังหวัดตรังในระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบูรณะรำลึก ระดับประถมศึกษาปีที่ 5 – 7 ที่โรงเรียนยุวราษฎร์วิทยา มัธยมศึกษาปีที่ 1 – 2 ที่โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง มัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ กรุงเทพ ฯ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 –5 จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นในปี พ.ศ. 2515 – 2518 เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะวิทยาสตร์ แผนกเตรียมเภสัช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีความสนใจในกิจกรรมทางการเมือง จึงเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองและร่วมเป็นแกนนำนักศึกษาในการต่อสู้ทางประชาธิปไตย เมื่อสิ้นสุดการปราบปราบด้วยการนองเลือดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ต้องหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีฉายาจัดตั้งในพรรคคอมมิวนิสต์ว่า “สหายใบไม้” โดยมีที่มาจากคำว่าพยาธิใบไม้หรือพยาธิตัวจี๊ด ที่พ้องกับชื่อเล่นนั่นเอง ต่อมาในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีนโยบาย “การเมืองนำทหาร” เพื่อยุติการทำสงครามสู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับฝ่ายรัฐบาล จึงมีโอกาสหวนกลับมาเดินบนหนทางแห่งสันติภาพตามนโยบายดังกล่าว โดยเดินทางลงจากภูเขาเขตอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ต่อจากนั้นก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีรัฐศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม ปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ และปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผลงานวรรณกรรม
เริ่มมีผลงานบทกวีเผยแพร่ครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ปี ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เสียงราษฎร์ และลงตามนิตยสารต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น จักรวาล ชัยพฤกษ์ วิทยาสาร เข้าร่วมประกวดแต่งบทกลอนได้รับรางวัลระดับจังหวัดเป็นประจำอีกด้วย
2516 คือแรกเริ่มต้น บทกวีดอกไม้จะบาน และ อหังการของดอกไม้ ที่นักเลงกาพย์กลอนต้องไม่อาจพลาดได้ และดอกไม้จะบานก็ยังเป็นบทเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้นักร้องหลายคนมีชื่อเสียงตามมาอีกด้วย
2518 รวมงานแปลบทกวีภาษาอังกฤษของ คิม ซี ฮา เสียงร้องของประชาชน และโลกที่สี่ รวมบทความข้อเขียนเกี่ยวกับปัญหาสตรี
2524 เศษธุลี บทกวีสะท้อนบาดแผลของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยที่พ่ายแพ้ชะตากรรมต้องออกป่าคืนเมืองลงพิมพ์ในนิตยสารการะเกด ได้รับรางวัลบทกวีดีเด่นประจำปีของสมาคมภาษาและหนังสือ
2532 ใบไม้ที่หายไป กวีนิพนธ์แห่งชีวิต และงานแปลนิยายขนาดสั้น ห้องสีเหลืองกับผู้หญิงคนนั้น
2533 ผู้หญิงของหลู่ซิ่น ข้อเขียนรวมเล่มใน บันทึกวรรณกรรม รวมข้อเขียน 6 นักประพันธ์เอกของโลก ส่วนใหญ่เป็นผลงานของโลก ส่วนใหญ่เป็นผลงานของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ บทกวีไม่มีชื่อ เขียนไว้อาลัยในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ สืบ นาคะเสถียร
2535 บทกวี ฝนแรก เขียนในระหว่างเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้รับรางวัลบทกวีดีเด่นประจำปี 2535 จากสมาคมภาษาและหนังสือ ภายหลังมีผู้นำไปใส่ทำนองขับร้องเป็นบทเพลง
2539 บทกวี ส่งเสด็จ ตีพิมพ์บนปกหนังสือพิมพ์สามโพสต์ในวาระที่ชาติไทยสูญเสียสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จากนั้นมีการนำไปใช้ต่อย่างแพร่หลายทางสื่อวิทยุโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์
2535 – 2540 อีกหนึ่งฟางฝัน : บันทึกแรมทางของชีวิต เป็นสารคดีอัตชีวประวัติ 32 ตอนจบ
รางวัล
รางวัลกวีดีเด่น จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ประจำปี 2535
รางวัลซีไรต์ (THE S.E.A. WRITE AWARD) ประจำปี 2532
รางวัลบทกวีดีเด่น จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ประจำปี 2535
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………
แหล่งอ้างอิง
1. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ. วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดตรัง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔.
2. กระทรวงวัฒนธรรม. ปกิณกวัฒนธรรมจังหวัดตรัง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2544
3. ภาพโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา