
มโนราห์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ ไม่ว่าจะไปเล่นที่ไหนก็จะแนะนำตัวเองว่า “ฉานชื่อเติม บ้านเดิมอยู่ตรัง” ที่กล่าวเช่นนั้น เพราะเกิดที่ตำบลเขาวิเศษ ซึ่งสมัยก่อนอยู่ในเขตอำเภอสิเกา
มโนราห์เติม ชื่อ เติม อ๋องเซ่ง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2457 เป็นบุตรของมโนราห์ตั้งและนางอบ อ๋องเซ่ง ศึกษาเล่าเรียนจนได้รับราชการในแผนกศึกษาธิการอำเภอสิเกา ทำงานได้ไม่นานก็ออกจากราชการมาเล่นมโนราห์เต็มตัวร่วมกับมโนราห์ตุ้งน้องชาย ซึ่งบิดาให้หัดมโนราห์ตั้งแต่ยังเป็นเด็กพร้อมกับน้องชายอีก 2 คน ต่อมาน้องชายและบิดาเสียชีวิต จึงเป็นนายโรงเอง นำคณะแสดงจนเป็นที่เลื่องลือในความสามารถ
ลักษณะเด่นของมโนราห์เติมคือเป็นผู้มีไหวพริบปฏิภาณในการขับกลอนสดเรียกว่า “กลอนมุตโต” การประชันแต่ละครั้งมักจะมีกลอนสดกินใจให้เป็นที่จดจำกันเสมอ ต่อมาเมื่อมีการประชันกันที่ไหนก็ตาม หากมีมโนราห์เติมเข้าร่วม รางวัลชนะเลิศจะไม่ได้เป็นของโรงอื่น ครั้งสำคัญที่สุดคือเมื่อจังหวัดตรังจัดประชันมโนราห์ทั่วภาคใต้ ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันถึง 50 โรง ผลคือมโนราห์เติมชนะเลิศ ทำให้ชื่อเสียงโด่งดังยิ่งขึ้น มีผู้เรียกหาไปเล่นถึงกรุงเทพฯ และประเทศมาเลเซีย
จากการประชันโรงกับมโนราห์วันแห่งลุ่มน้ำปากพนัง ทำให้มโนราห์เติมได้หนูวินลูกสาวมโนราห์วันมาเป็นภรรยา ต่อมาได้หนูวาดน้องสาวมาเป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง ทำให้คณะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
มโนราห์เติมเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2502 แต่ถูกคู่แข่งใช้กลวิธีหาเสียงว่า “ถ้าให้โนราเติมเป็นผู้แทนเสียแล้ว คนปักษ์ใต้จะไม่ได้ดูโนราเติมอีก” เมื่อไม่ได้รับเลือก ก็ยกครอบครัวไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
มโนราห์เติมถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2514 ปัจจุบัน วราภรณ์ อ๋องเซ่ง บุตรสาวคนหนึ่งของมโนราห์เติม ได้รวบรวมประวัติและผลงานของบิดา จัดพิมพ์เป็นหนังสือ จัดทำอนุสรณ์สถาน ทำพิพิธภัณฑ์ และสืบทอดวิชามโนราห์สอนกลุ่มเยาวชนอยู่ที่ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่
แม้ว่ามโนราห์เติมถึงแก่กรรมแล้ว ชาวภาคใต้ยังคงกล่าวขวัญถึงอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงมีชื่อเสียงที่เป็นอมตะตลอดไป