ที่ตั้ง
ตั้งอยู่ที่ถนนตรัง-ปะเหลียน ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว
ละติจูด 7° 27′ เหนือ ลองจิจูด 99° 38′ 24″ ตะวันออก
การเดินทางเริ่มต้นจากตัวเมืองตรัง ไปตามถนนสายตรัง-ปะเหลียน ห่างจากตัวจังหวัด 14 กิโลเมตร บ้านอยู่ทางขวามือติดกับโรงเรียนตรังรังสฤษฎ์ ปัจจุบันจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เปิดให้บริการตามคำขอโดยทายาทและอาสาสมัครท้องถิ่นเป็นผู้ให้บริการ ติดต่อทายาทซึ่งอยู่ที่บ้านตรงกันข้ามกับตัวโบราณสถาน
บ้านหลังนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2490 ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างราว 360,000 บาท เจ้าของผู้สร้างบ้าน ชื่อ นายกีวด คีรีรัตน์ ที่มาตั้งถิ่นฐานในตำบลทุ่งค่ายตั้งแต่ พ.ศ. 2465 ได้ก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นคหบดีเจ้าของกิจการโรงเลื่อย โรงอิฐ เตาถ่าน ตลาด และรถรับส่งสินค้า เมื่อนายกีวดถึงแก่กรรมแล้วบ้านนี้เป็นมรดกตกทอดถึงรุ่นลูกหลาน ตัวบ้านเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบชิโน-โปรตุกีส ที่ปรากฏในชุมชนไกลจากตัวเมือง แสดงถึงพัฒนาการของชุมชนและการติดต่อทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
โครงสร้างของบ้านเป็นอาคารก่ออิฐสอปูน ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแบบตะวันตก ลายฉลุไม้แบบจีนและแบบไทยมุสลิม หลังคาจั่วมลิลามุงกระเบื้องว่าว ภายในอาคารชั้นล่างเป็นห้องกว้าง พื้นปูนขัดมัน ภายนอกมีกำแพงรอบบ้านทั้ง 4 ด้าน แต่ด้านหน้าต้องรื้อไปเมื่อมีการขยายถนนจนขอบถนนติดกับตัวบ้านพอดี ต่อมาจังหวัดตรังสนับสนุนงบประมาณให้กรมศิลปากรบูรณะตามหลักวิชาการ แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2554
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศวันที่ 27 ธันวาคม 2544
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 19 ตอนพิเศษที่ 117 ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545