ภาพศาลหลักเมืองตรัง ถ่ายภาพโดย : นางสาววิสสุตา แป้นไทย

ที่ตั้ง

ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

ประวัติความเป็นมา

       เมื่อปี พ.ศ. 2355 ได้มีการตั้งเมืองตรังขึ้นที่ตำบลควนธานี และมีการบอกเล่าเชิงตำนานจากชาวบ้านรุ่นเก่า ๆ ว่า ศาลหลักเมืองแห่งนี้มีวิญญาณ เนื่องจากพิธีตั้งศาลหลักเมืองในยุคสมัยที่ “หลวงอุไภยธานี” เป็นเจ้าเมืองตรังคนแรกนั้น ได้ให้ทหารตีฆ้องร้องป่าวไปตามบ้านต่างๆ ถ้าผู้ใดขานรับ ให้นำตัวมาฝังในการตั้งศาลหลักเมือง โดยชาวบ้านส่วนใหญ่รู้เรื่องเข้าจึงไม่ยอมขานรับ แต่หญิงมีครรภ์ผู้หนึ่งนามว่า “นางบุญมา” กำลังทำอาหารเย็นอยู่ในครัว เกิดบังเอิญพลั้งเผลอขานรับ จึงนำตัวไปฝังพร้อมพิธีฝังเสาหลักเมือง ที่ตั้ง “ศาลหลักเมืองตรัง” เดิมเป็นแค่เพิงเล็ก ๆ หลังคามุงสังกะสี ส่วนเสาหลักเมืองก็มีจอมปลวกขึ้นจนมองไม่เห็นตัวเสาแล้ว

        ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2504 ทางราชการและประชาชนร่วมมือร่วมใจกันสร้างศาลหลักเมืองขึ้น ศาลหลักเมืองแห่งนี้มีร่องรอยการกราบไหว้บูชาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี พ.ศ. 2511 เริ่มมีการถือศีลกินเจโดยจัดขึ้นที่บริเวณศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นครั้งแรก และเพิ่งหยุดการถือศีลกินเจที่ศาลหลักเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2533 เนื่องจากสภาพศาลหลักเมืองอยู่ในสภาพเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรม

          ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2535 จังหวัดตรังได้พิจารณาเห็นว่าศาลหลักเมืองจังหวัดตรังเป็นโบราณสถานเก่าแก่มีอายุประมาณ 181 ปี ควรแก่การบูรณะซ่อมแซมให้สง่างามเพื่อเป็นที่สักการะบูชา และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดตรังตลอดไป ประกอบกับปี พ.ศ. 2535 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมายุครบ 60 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จังหวัดตรังจึงได้ดำเนินโครงการบูรณะศาลหลักเมือง จังหวัดตรัง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา เพื่อให้ศาลหลักเมืองตรังอยู่ในสภาพที่สง่างามเป็นสัญลักษณ์ว่าบริเวณแห่งนี้อดีตเป็นที่ตั้งเมืองตรัง

           สถานที่แห่งนี้ นับเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวตรังทั่วไป จนเกิดความเชื่อถือศรัทธาในทางความศักดิ์สิทธิ์ และมีการบนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องดินฟ้าอากาศ และหน้าที่การงาน ซึ่งมีการถวายทั้งดอกไม้ ธูปเทียน ประทัด หรือแม้กระทั่งหมูย่าง เล่ากันว่า คณะหนังตะลุง หรือมโนราห์ที่ผ่านศาลหลักเมือง จะต้องตีกลอง หรือบรรเลงดนตรีสักการะทุกครั้ง เพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในการเดินทาง และการแสดง

บรรณานุกรม

ศาลหลักเมืองจังหวัดตรัง.  [ม.ป.ท.]: [ม.ป.พ.], [ม.ป.ป.].

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  ศาลหลักเมืองตรัง.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 30   

     พฤษภาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/5832

0 0 votes
Article Rating
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments
0
Would love your thoughts, please comment.x
()
x